- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 30 September 2022 12:11
- Hits: 888
กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.00%
คาดอาจปรับขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี
โดย ฉมาดนัย มากนวล, ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS
Key Highlights
● กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะสูงเกินกรอบเป้าหมายอีกระยะหนึ่งจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ก่อนทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023
● Krungthai COMPASS ประเมินว่า กนง. อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 25 bps ในการประชุมครั้งถัดไป (รอบสุดท้ายของปี) และคาดว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะขึ้นไปแตะระดับ 2.5% - 3% ในปี 2024 โดยคาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายอีกสักระยะก่อนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2023 อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 5/2022 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 ของปี (รวม 50 bps) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
● เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยคงประมาณการเศรษฐกิจในปี 2022 ขยายตัวร้อยละ 3.3 และปรับลดประมาณการปี 2023 ขยายตัวร้อยละ 3.8 (จากร้อยละ 4.2) โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีกว่าคาดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวมากกว่าคาด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความทั่วถึงมากขึ้นทั้งในด้านสาขาธุรกิจและในมิติของรายได้ที่กระจายตัวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอกว่าคาด
● อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะสูงเกินกรอบเป้าหมายอีกระยะหนึ่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2022 และปี 2023 มีแนวโน้ม สูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 (จากเดิมร้อยละ 6.2) และร้อยละ 2.6 (จากเดิมร้อยละ 2.5) ตามลำดับ เป็นผลจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม
● มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเห็นความสำคัญของมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
● ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทยอยปรับสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบ ดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อแต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
Implication:
● Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 25 bps ในการประชุมครั้งถัดไป (รอบสุดท้ายของปี) ภายใต้ปัจจัยต่อไปนี้
● เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก โดย กนง. ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังยกเลิกมาตรการ Thailand Pass โดยได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2022 และปี 2023 เพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านคน และ 21 ล้านคน ตามลำดับ ใกล้เคียงกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะแตะระดับ 8.1 ล้านคน และ 21.3 ล้านคน ตามลำดับ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
● อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงอีกสักระยะหนึ่ง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 โดย กนง. ได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2022 และปี 2023 เป็นร้อยละ 6.3 (จากเดิมร้อยละ 6.2) และร้อยละ 2.6 (จากเดิมร้อยละ 2.5) ตามลำดับ แม้ว่าจะประเมินอัตราเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ แต่คาดว่าระดับอัตราเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งจากต้นทุนสินค้าที่ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง ก่อนทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2023 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากกว่าคาดสะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง โดยต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงอาจจะทยอยส่งผ่านและสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
● Krungthai COMPASS ประเมินว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะขึ้นไปแตะระดับ 2.5% - 3% ในปี 2024 จากการมุ่งปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) ในช่วงที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว ธปท. จึงจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นลดลง และเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Policy space) เพื่อเป็นกระสุนสำรองไว้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
A91110