- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 27 November 2014 23:19
- Hits: 3358
นักเศรษฐศาสตร์เชื่อศก.-ส่งออกปีหน้าดีกว่าปีนี้ แนะรัฐหนุนพัฒนา R&D
กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ เรื่อง 'คาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ และการส่งออกปี 2558'พบว่านักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 75.0 คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 58 จะขยายตัวดีกว่าปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 มีเพียงร้อยละ11.7 ที่คาดว่าจะแย่กว่าปีนี้ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 95.0 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปีนี้ และคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 โดยมีเพียงร้อยละ 1.7 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปีนี้
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 คาดว่าโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.3 ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 46.7 คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันไปสู่ระดับร้อยละ 2.50 ภายในสิ้นปี 2558 ขณะที่ร้อยละ 33.3 คาดว่า ธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน(ร้อยละ 2.00) ตลอดปี 2558
ขณะที่ค่าเงินบาท นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 51.7 คาดว่าค่าเงินบาทในปีหน้าจะอ่อนค่าลง โดยจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.2 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐโดยเฉลี่ย ขณะที่ร้อยละ 23.3 คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ในส่วนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET Index) นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 50.0 เห็นว่า SET Index ปี 58 ยังเป็นขาขึ้น โดยกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีอยู่ในช่วง 1,452 -1,683 จุด ขณะที่ร้อยละ 13.3 เห็นว่าจะเป็นขาลง
ภาคส่งออกในปีหน้า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 81.7 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น และคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 มีเพียงร้อยละ 3.3 ที่คาดว่าการส่งออกจะแย่กว่าปีนี้ นอกจากนี้ร้อยละ 35.0 เชื่อว่าการส่งออกที่ชะลอตัวในปัจจุบันเป็นผลมาจากตลาดโลกที่ชะลอตัว 46% มาจากสินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ 37% และมาจากปัจจัยอื่นๆ 17%
สิ่งที่เห็นว่าภาครัฐควรช่วยเหลือภาคส่งออก มีดังนี้ อันดับ 1 ให้ความช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา เน้นสร้างนวัตกรรม สร้าง Brand และพัฒนาตัวสินค้า อันดับ 2 ขยายตลาดต่างประเทศให้กว้างขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลัก ส่งเสริมการค้าแบบ G2G และ แบบ G2B รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มากขึ้น อันดับ 3 ให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะส่งผลกระทบและฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยปี 2558 ที่สำคัญ คือ อันดับ 1 เศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่ยังชะลอตัว อันดับ 2 คือปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก และอันดับ 3 เป็นปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนของไทย
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำของประเทศ 28 แห่ง จำนวน 60 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-10 พฤศจิกายน 57
อินโฟเควสท์