- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 23 November 2014 16:31
- Hits: 3212
หนี้ครัวเรือนฉุดบริโภคเฉา-จี้รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
แนวหน้า : หนี้ครัวเรือนฉุดบริโภคเฉา จี้รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แบงก์ชี้ปี’58 ศก.ยังเดี้ยง
ข่าวร้ายเศรษฐกิจไทย นายแบงก์ใหญ่ ชี้พิษประชานิยม ดันหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงเกินแก้ ฉุดกำลังซื้อในประเทศเหี่ยวต่ออีก 1 ปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ช่วยอะไร ขณะที่ส่งออกไทยก็ร่วงสวนทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แนะรัฐต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคเอกชน
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง อุตสาหกรรมไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ในงานสัมมนาตามติดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ปี 2558 จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ว่า ปี 2558 ประเมินอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยโต 3-4% ( รัฐบาลคาดการณ์ 4-5%) เนื่องจากเทียบกับฐานปีนี้ที่ขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ เพราะยังมีแรงกดดันจากผลพวงของนโยบายประชานิยมที่ทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นตัวฉุดกำลังซื้อในประเทศ จนเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น
“ฤทธิ์ของประชานิยมยังมีแรงกดดันสูงมาก ส่วนตัวจึงมองว่าปี 2558 ทั้งปีเศรษฐกิจไทยน่าจะไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่หวังว่าปี 2559 แรงกดดันจากประชานิยมจะอ่อนกำลังลง เพียงแต่เวลานี้ขออย่าให้มีการเติมประชานิยมที่ซ้ำเติมให้หนี้ครัวเรือนสูงเข้าไปอีก”นายโฆสิตกล่าว
นายโฆษิต กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คงไม่เกิดประโยชน์หากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงกับตลาดโลก หลังจากการส่งออกไทยติดลบสวนทางกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ทำให้ไทยถดถอยจากประเทศที่เป็นฐานการผลิตเหลือเพียงประเทศหนึ่งในทางเลือกของนักลงทุนเป็นสัญญาณร้ายในอนาคต ดังนั้นภาคเอกชนต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า พัฒนาตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ภาครัฐต้องสนับสนุนภาคการผลิตมากขึ้นเพราะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เทียบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ชาติก็สามารถเขัมาใช้ประโยชน์ได้
ด้านนายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า คาดว่าปี 2558 การลงทุนทั้งโลกจะมีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านเหรียญ สูงกว่าปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้การลงทุนในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ด้านนี้ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่มากเหมือนอดีตเพราะคู่แข่งเยอะขึ้น และไทยมีข้อจำกัด หลายอย่าง เช่น ค่าแรง วัตถุดิบบางชนิด
อย่างไรก็ตาม รัฐยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์แข่งกับประเทศอื่น หากไม่ลงทุนศักยภาพการแข่งขันจะลดลง คาดว่าหลังประกาศใช้นโยบายใหม่ในปีหน้าจะมีการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้าโทรคมนาคมเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตโซลาร์เซลล์ และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์) ขณะนี้เข้ามาสอบถามบีโอไอหลายราย
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสอท.กล่าวว่า จากยอด 9 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกยังคงติดลบ ทำให้คาดหวังไตรมาสสุดท้ายได้ยาก จึงมองว่าปีนี้มีโอกาสติดลบสูง ส่วนปีหน้าน่าจะดีขึ้น เพราะมีปัจจัยบวกหลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูปประเทศจะทำให้กฎกติกาดีขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และหากยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้การท่องเที่ยงกลับมาดีอีกครั้ง ส่วนตลาดต่างประทศยังคงน่าเป็นห่วง เพราะมีเพียงที่สหรัฐฯประเทศเดียวที่ฟื้นตัว สอท.จึงมองว่ารัฐบาลควรเริ่มเจาะตลาดใหม่ บริกส์ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เพราะเป็นตลาดใหม่ที่เติบโตสูงมาก รวมทั้งควรเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับยุโรปให้เสร็จภายใน1ปี เพราะปีหน้าไทยจะถูกตัดสิทธิ์ทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)เกือบทั้งหมด
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ประมาณการว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดต่ำลงถึงกลางปีหน้า โดยราคาตลาดเวสท์เท็กซัสจะต่ำสุดที่ระดับ 70 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่มีราคาประมาณ 75-79 เหรียญต่อบาร์เรล ในขณะที่เบรนท์จะมีราคาประมาณ 75-77 เหรียญต่อบาร์เรล จากปัจจุบัน 78 เหรียญต่อบาร์เรล โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะกำลังการผลิตน้ำมันสูงเกินความต้องการของตลาด สำหรับราคาน้ำมันในประเทศจะลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า มั่นใจปีหน้าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 4.1% จากปีนี้ที่คาดอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1.4% ทั้งนี้ สิ่งที่อยากเห็นในปีหน้าคือ อยากให้รัฐบาลเริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการค้าขายระหว่างชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาส
“เศรษฐกิจไทยปี 2558 ยังมีความเสี่ยงจากการบริโภคภาคเอกชนที่คาดจะโตได้ 3% จากเดิมคาดอยู่ที่ 4% เนื่องจากเป็นห่วงระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเพราะประชาชนก็ยังมีภาระผ่อนชำระหนี้ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงตามไปด้วย”