- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 14 November 2014 20:08
- Hits: 2960
เวิลด์แบงก์ มองปี 58 ศก.ไทยฟื้นตามตลาดโลก/นายแบงก์มองบาทอ่อน 34-ดบ.เป็นขาขึ้น
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในปี 58 คาดว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเป็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยประเทศที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เช่น ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และจะเป็นตัวหน่วงไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเร่งขยายตัวได้
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 58 ประเมินอัตราการขยายตัวของจีดีพีอยู่ที่ 3.5-4% โดยยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่ 5-6% โดยปัจจัยหนุนในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีหน้ามาจากการฟื้นตัวของการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ในการลงทุนนั้นจะมีสัดส่วน 5% ของจีดีพี แต่ยังถือว่าสามารถช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรมีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้เข้ากับยุคในปัจจุบัน เนื่องจากสินค้าในปัจจุบันที่ประเทศไทยผลิตและส่งออก เช่น ฮาร์ดิสก์ไดร์ฟ และเครื่องแฟ็กซ์นั้น ความต้องการในตลาดโลกลดลง ทำให้ส่งออกได้น้อยลง ทั้งนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแทปเล็ต เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคได้ เช่น เวียดนาม ที่บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้ ได้เลือกเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยในปี 58 คาดว่าอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้คาดว่ายังคงไว้ที่ 2% หรือมีแนวโน้มที่อาจจะมีการปรับลดลงได้เล็กน้อย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) คาดว่า ค่าเงินบาทในปี 58 จะอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการยกเลิกมาตรการ QE นอกจากนี้ยังเป็นผลจากแนวโน้มการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ในปี58 ซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3/58 จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอ่อนค่าได้เช่นกัน
"นอกจากปัจจัยเรื่อง QE และดอกเบี้ยแล้ว ยังอาจมาจากเงินทุนไหลออกในตลาดหุ้น และที่ต้องจับตาคงเป็นเงินที่จะไหลออกจากพันธบัตรกระทรวงการคลังของต่างชาติ ที่คาดว่าจะมีการขายออกมา 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่ 6 แสนล้านบาทด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทอ่อนค่า"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ธนาคารกสิกรไทยเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการดูแลและควบคุมความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ และไม่ส่งผลกระต่อผู้ประกอบการมากนัก ส่วนในสิ้นปีนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นายศิริวัฒน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการลงทุนภูมิภาค 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน(QE) โดยการพิมพ์เงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องมีการพิมพ์เงินเข้ามาซื้อสินทรัพย์เพิ่มด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก และแนวโน้มของค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรเริ่มจะอ่อนค่าลง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ประเทศในแถบเอเชียเหนือต้องเพิ่มปริมาณเงินเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และอาจจะส่งผลมาถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งในภาวะที่การส่งออกของโลกขยายตัวเพียง 3% ทำให้ประเทศต่างๆ จะต้องแย่งชิงการขยายตัวของการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น
อินโฟเควสท์