- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 07 November 2014 15:17
- Hits: 3796
′หม่อมอุ๋ย′ท้าสภาพัฒน์ ลั่นปี′58 เศรษฐกิจโต4% เหตุการลงทุนภาครัฐหนุน-เปิดประมูลรถไฟฟ้า 8 สาย
วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 08:31:07 น.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล |
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง "เศรษฐกิจไทยปี 2558 ฟื้นหรือฟุบ" ที่อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะมีความคึกคักอย่างแน่นอน และมีดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่ต่ำกว่า 4% จากปัจจัยสำคัญคือ การลงทุนภาครัฐ ที่เดิมรัฐไม่สามารถลงทุนได้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2556-พฤษภาคม 2557 ต่อจากนี้จะมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่จะออกมาในเดือนธันวาคมนี้ ได้แก่ เงินอัดฉีดให้แก่ชาวนาที่มีรายได้น้อย หรือมีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ครัวเรือนละ 15,000 บาท ที่มีจำนวน 1.8 ล้านครัวเรือน เพื่อให้ชาวนาได้นำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากลักษณะการใช้เงินของชาวนามี 100 บาท ก็ใช้ 100 บาท ซึ่งวิธีนี้เป็นจิตวิทยาทางการเมืองไม่ให้นึกถึงเรื่องการจำนำข้าว
"เชื่อว่าหลังจากเดือนธันวาคม อีก 2-3 เดือน จะเริ่มเห็นผลต่อเศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน รวมทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ฉะนั้น ผมท้าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เลยว่ายังไงจีดีพีก็เกิน 4% แน่" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวต้องฟื้นฟูเรื่องความเชื่อมั่น ได้มีการหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ในเรื่องของแผนคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟรางคู่ การท่าอ่าวไทย นิคมการบินระบบขนส่งในเมืองและนอกเมือง ว่าส่วนใดสามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2558 ผลปรากฏว่าที่ดำเนินการได้คือ เปิดประมูลรถไฟฟ้าในเมือง 8 สาย จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและต่างชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า มาตรการระยะยาวต้องมีการกำจัดจุดอ่อนทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องพลังงานน้ำมัน ที่ประเทศไทยใช้น้ำมันสูงกว่ามาตรฐานของหลายประเทศในโลกถึง 18% ของจีดีพี โดยเบื้องต้นจะทำให้ใช้น้ำมันลดลงคือ การยกเลิกกองทุนสนับสนุนจากพลังงานน้ำต่างๆ เพื่อไม่ให้กลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเคยตัว รวมทั้งปรับการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล จากปัจจุบัน 0.5 สตางค์ต่อลิตร ให้เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็น 4.30 สตางค์ต่อลิตร หรือตามเดิมก่อนหน้าที่มีการปรับลดคือ 5.30 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้นจนมีการใช้น้อยลง เพราะหากยังคงปริมาณการใช้น้ำมันที่ 18% ของจีดีพี ในระยะยาวประเทศไทยจะไปไม่รอด "อีกจุดอ่อนคือ ไทยมีงบต่อปีอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมีการหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เหลืองบลงทุนเพียง 430,000 ล้านบาท จึงต้องหาแนวทางจัดเก็บภาษีมากขึ้น โดยกลุ่มที่ต้องดำเนินการคือ ทรัพย์สมบัติที่ขึ้นทะเบียน เช่น ภาษีมรดก และภาษีที่ดิน เป็นการเก็บจากคนรวย และการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือยเพิ่มเติมจากสุราและบุหรี่ โดยกลุ่มแรกที่เพ่งเล็งไว้คือ ชาเขียว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น ในส่วนของภาษีหลัก จากนี้จะมีการออกมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น โดยจะหันไปชดเชยด้วยการปรับลดสัดส่วนลดหย่อนภาษีจากกองทุนลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่คนรวยลงทุนไว้แทน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว |
กังวล เศรษฐกิจ ถาม ปรีดิยาธร เทวกุล กังวล "เอกชน"
วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557