WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

′หม่อมอุ๋ย′ท้าสภาพัฒน์ ลั่นปี′58 เศรษฐกิจโต4% เหตุการลงทุนภาครัฐหนุน-เปิดประมูลรถไฟฟ้า 8 สาย

วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 08:31:07 น.

 

 


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล 

     เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง "เศรษฐกิจไทยปี 2558 ฟื้นหรือฟุบ" ที่อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะมีความคึกคักอย่างแน่นอน และมีดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไม่ต่ำกว่า 4% จากปัจจัยสำคัญคือ การลงทุนภาครัฐ ที่เดิมรัฐไม่สามารถลงทุนได้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2556-พฤษภาคม 2557 ต่อจากนี้จะมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง  

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่จะออกมาในเดือนธันวาคมนี้ ได้แก่ เงินอัดฉีดให้แก่ชาวนาที่มีรายได้น้อย หรือมีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ครัวเรือนละ 15,000 บาท ที่มีจำนวน 1.8 ล้านครัวเรือน เพื่อให้ชาวนาได้นำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากลักษณะการใช้เงินของชาวนามี 100 บาท ก็ใช้ 100 บาท ซึ่งวิธีนี้เป็นจิตวิทยาทางการเมืองไม่ให้นึกถึงเรื่องการจำนำข้าว 


    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ยังมีเรื่องของการนำงบที่เหลือจากโครงการไทยเข้มแข็ง 23,000 ล้านบาทมาจ้างงานชาวนาให้ทำการปรับปรุงห้องน้ำของโรงเรียนที่เดือดร้อนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงสถานีอนามัยและสาธารณสุขทั่วประเทศ เพราะเกี่ยวข้าวแล้วสามารถรับงานก่อสร้างได้ พร้อมกับเร่งรัดหน่วยงานรัฐใช้เงินงบประมาณที่ค้างจากปีงบประมาณ 2557 ที่มี 140,000 ล้านบาทตามแผนงาน

    "เชื่อว่าหลังจากเดือนธันวาคม อีก 2-3 เดือน จะเริ่มเห็นผลต่อเศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน รวมทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ฉะนั้น ผมท้าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้เลยว่ายังไงจีดีพีก็เกิน 4% แน่" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว 

     ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวต้องฟื้นฟูเรื่องความเชื่อมั่น ได้มีการหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ในเรื่องของแผนคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟรางคู่ การท่าอ่าวไทย นิคมการบินระบบขนส่งในเมืองและนอกเมือง ว่าส่วนใดสามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2558 ผลปรากฏว่าที่ดำเนินการได้คือ เปิดประมูลรถไฟฟ้าในเมือง 8 สาย จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและต่างชาติ 

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า มาตรการระยะยาวต้องมีการกำจัดจุดอ่อนทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องพลังงานน้ำมัน ที่ประเทศไทยใช้น้ำมันสูงกว่ามาตรฐานของหลายประเทศในโลกถึง 18% ของจีดีพี โดยเบื้องต้นจะทำให้ใช้น้ำมันลดลงคือ การยกเลิกกองทุนสนับสนุนจากพลังงานน้ำต่างๆ เพื่อไม่ให้กลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเคยตัว รวมทั้งปรับการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล จากปัจจุบัน 0.5 สตางค์ต่อลิตร ให้เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็น 4.30 สตางค์ต่อลิตร หรือตามเดิมก่อนหน้าที่มีการปรับลดคือ 5.30 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้นจนมีการใช้น้อยลง เพราะหากยังคงปริมาณการใช้น้ำมันที่ 18% ของจีดีพี ในระยะยาวประเทศไทยจะไปไม่รอด 

    "อีกจุดอ่อนคือ ไทยมีงบต่อปีอยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมีการหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว เหลืองบลงทุนเพียง 430,000 ล้านบาท จึงต้องหาแนวทางจัดเก็บภาษีมากขึ้น โดยกลุ่มที่ต้องดำเนินการคือ ทรัพย์สมบัติที่ขึ้นทะเบียน เช่น ภาษีมรดก และภาษีที่ดิน เป็นการเก็บจากคนรวย และการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือยเพิ่มเติมจากสุราและบุหรี่ โดยกลุ่มแรกที่เพ่งเล็งไว้คือ ชาเขียว เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น ในส่วนของภาษีหลัก จากนี้จะมีการออกมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น โดยจะหันไปชดเชยด้วยการปรับลดสัดส่วนลดหย่อนภาษีจากกองทุนลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่คนรวยลงทุนไว้แทน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

กังวล เศรษฐกิจ ถาม ปรีดิยาธร เทวกุล กังวล "เอกชน"

วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

 

 
 

  


    ไม่ว่าจะเป็น'เสียง'อันออกมาจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กรอ.) ไม่ว่าจะเป็น'เสียง'อันออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

    ยัง 'กังวล'ในเรื่องทาง 'เศรษฐกิจ'

    ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นแกนนำสำคัญ

ระบุ การขยายตัวอาจต่ำกว่าที่คาดไว้

ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประสานเสียง

ยืนยันว่า น่าจะโตกว่าร้อยละ 1.5

    อาจเป็นการมอง 'โลก'ในแง่สดสวยมากเกินไป อาจเป็นการมอง 'ภาพรวม'ของเศรษฐกิจไทยไม่ตรงกับความเป็นจริง

    ที่แน่ๆ ก็คือ การส่งออกต่ำกว่าร้อยละ 0

    ความหวังที่ฝากไว้กับการท่องเที่ยวก็อาจ 'หลุดลอย'เพราะตัวเลขระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ล้วนแต่ลด ลด เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2556

    เหลืออีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น

     หากจับ 'ปัญหา' จากที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จากที่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กรอ.) ตั้งข้อสังเกต

    ยังอยู่ที่เดิม

    โฆษก กนง.ตั้งข้อสังเกตด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลอย่างยิ่ง 'ความรวดเร็วในการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่วางไว้'

   เป็นน้ำเสียงเยี่ยง 'สุภาพบุรุษ' นักเรียนนอก

   นี่ก็ตรงกับบทสรุปอันมาจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่เกาะติดสถานการณ์อย่างแนบแน่น

   นั่น ก็คือ ภาครัฐยังไม่สร้าง'ความชัดเจน'

    ไม่ว่าความชัดเจนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าความชัดเจนในเรื่องโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

   เป็นไปได้อย่างไร

   ในเมื่อมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาแล้ว และดำรงตำแหน่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

    เป็นไปได้อย่างไร

    ยิ่งหากศึกษารายงานภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนกันยายน 2557 ของ ธปท. ซึ่งเน้นเฉพาะไปยังพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้

   ก็จะยิ่งมองเห็นภาวะ 'หดตัว' อย่างเป็นเอกภาพ

    การอุปโภคและการบริโภครวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนยังคงซบเซาอย่างหนักเนื่องจากรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังพุ่งสูง

กดดันให้ประชาชนระมัดระวังการบริโภค

โดยเฉพาะภาคใต้ซึ่งดัชนีรายได้เกษตรกรหดตัวลงถึงร้อยละ 36.4 ตาม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวลงร้อยละ 29.7

หรือหดตัวเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากต้นปี

    ภาคเหนือ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.8 สะท้อนว่าประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างสูง โดยดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 10.5 ตามดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่หดตัวลงร้อยละ 3.5

    หากภาคเหนือ ภาคใต้เป็นอย่างนี้ แล้วภาคกลาง ภาคอีสานจะไม่เป็นหรือ

   นี่คือคำถามที่ถามไปยัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี นี่คือคำถามที่ถามไปยัง นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

   นี่คือ 'โจทย์'ที่ยังไม่มี 'คำตอบ'

   ถามว่าเหตุใดสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงยังเงียบสงบอยู่ในที่ตั้ง

   ทั้งๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลอย่างนี้ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กรอ.) ห่วงใยอย่างนี้

    จำเป็นอย่างยิ่งที่'สภาพัฒน์'จะต้อง'แถลง'ออกมา 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!