- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 31 May 2021 13:07
- Hits: 2219
PwC เผยซีอีโออาเซียนเชื่อมั่นรายได้-ศก. กลับมาฟื้นตัวในปี 64 ผลสำรวจชี้ 'โรคระบาดและวิกฤตสุขภาพ' ปัจจัยเสี่ยงอันดับที่หนึ่ง ฉุดรั้งการเติบโตของธุรกิจ
PwC เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอโลก พบซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนมีความเชื่อมั่นเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของรายได้และเศรษฐกิจโลกในปีนี้เปรียบเทียบกับปีก่อน โดยโรคระบาดและวิกฤตสุขภาพเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับที่หนึ่งที่ผู้บริหารต่างแสดงความกังวลและหันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
ด้านซีอีโอของ PwC ประเทศไทย ชี้เศรษฐกิจไทยปี 64 จะฟื้นตัวได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร พร้อมแนะธุรกิจไทยโฟกัสการบริหารกระแสเงินสดเพื่อรักษาสภาพคล่องให้ได้นานที่สุด
นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 24 (24th Annual Global CEO Survey) ของ PwC ซึ่งได้ทำการสอบถามความคิดเห็นซีอีโอเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการเติบโตของรายได้จำนวน 5,050 รายใน 100 ประเทศและอาณาเขต โดยในจำนวนนี้ เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จำนวน 236 รายว่า 31% ของซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนที่ตอบแบบสำรวจแสดงความเชื่อมั่นว่า การเติบโตของรายได้ทางธุรกิจในระยะ 12 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบกับ 28% ในปีก่อน
สอดคล้องกับความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า โดยซีอีโออาเซียนถึง 71% เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น เปรียบเทียบกับปี 2563 ที่ 16% เช่นเดียวกับมุมมองเชิงบวกของซีอีโอทั่วโลกที่ 76% เปรียบเทียบกับ 22% ในปีก่อน และยังเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการถามคำถามนี้ในการสำรวจเมื่อปี 2555
“กว่าหนึ่งปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มาวันนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา” นาย ชาญชัย กล่าว
'โรคระบาดและวิกฤตสุขภาพ' ครองปัจจัยความกังวลอันดับที่หนึ่ง
ผลสำรวจของ PwC พบว่า โรคระบาดและวิกฤตสุขภาพกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่หนึ่ง (74%) ที่สร้างความความกังวลให้กับซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนอย่างไม่ต้องสงสัย ตามมาด้วย อันดับที่สอง ความไม่แน่นอนของนโยบาย (57%) อันดับที่สาม กฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไป (52%) อันดับที่สี่ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (51%) และอันดับที่ห้า ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก (47%) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ซีอีโอในภูมิภาคต่างหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดฝันและอาจส่งผลกระทบสูงมากขึ้น
ซีอีโอในอาเซียนยังมุ่งลงทุนเพื่อเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล
เมื่อถามถึงการลงทุนระยะยาวเพื่อเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลพบว่า ซีอีโออาเซียนกว่าครึ่ง (52%) มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในด้านดังกล่าวมากกว่า 10% เป็นผลมาจากโควิด-19 นอกจากนี้ ซีอีโอในภูมิภาคถึง 46% ยังมีแผนที่จะนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีที่สำคัญเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพของบุคลากรภายในองค์กร
อย่างไรก็ดี แม้ภัยคุกคามทางไซเบอร์จะเป็นปัจจัยความกังวลในอันดับต้น ๆ ที่ซีอีโออาเซียนมองว่าส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ผลสำรวจกลับพบว่า มีซีอีโอเพียง 32% ที่กำลังวางแผนจะเพิ่มการลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา หลายองค์กรชั้นนำทั่วโลกต่างทยอยออกมาประกาศจุดยืนและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกก่อนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (Conference of Parties: COP26) ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร แต่ผลสำรวจกลับพบว่า มีซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนเพียง 31% ที่แสดงความกังวลมากเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอัตราร้อยละที่ใกล้เคียงกับซีอีโอทั่วโลกที่ 30% ยิ่งไปกว่านั้น มีซีอีโออาเซียนถึง 21% ที่ไม่แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ทั้ง ๆ ที่ปัญหาดังกล่าวอาจเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ
เมื่อถามถึงการลงทุนด้านการจัดการความยั่งยืนและการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) พบว่า มีซีอีโอในอาเซียนเพียง 22% เท่านั้นที่มีแผนจะเพิ่มการลงทุนในด้านดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
“สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ซีอีโอในหลาย ๆ ประเทศโฟกัสไปที่การดำเนินกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดก่อน ผ่านการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ตามด้วยการพึ่งพาการเติบโตแบบ Organic growth และแสวงหาพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และกิจการร่วมทุน”นายชาญชัย กล่าวเสริม
แผนการจัดหาและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ปัจจัยหลักช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย
นาย ชาญชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ปี 2564 ยังจะคงเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยการฟื้นตัวของธุรกิจไทยจะเกิดขึ้นได้เร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมไปถึงความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า จะทำได้ตามเป้าหมายของการเปิดประเทศภายในไตรมาสที่ 4 นี้หรือไม่
“ปัจจัยหลักที่จะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คือ ความรวดเร็วในการจัดหาและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด เพราะถ้าดูจากตัวเลขจีพีดีไตรมาสแรกของไทยที่ติดลบถึง 2.6% จะเห็นว่าการแพร่ระบาดภายในประเทศระลอกใหม่ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและภาคประชาชนหดตัวอย่างชัดเจน แทบทุกบริษัทในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารกระแสเงินสดที่ต้องมีการทบทวนค่าใช้จ่ายและแผนลงทุน เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ดำเนินไปได้นานที่สุดและผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไป” นาย ชาญชัย กล่าว
ข้อความถึงบรรณาธิการ
- ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจและการเติบโตของรายได้ในมุมมองของซีอีโออาเซียนประจำปี 2563 ได้ที่ https://www.pwc.com/th/en/thailand/assets/ceo-survey2021.pdf
- PwC สำรวจความคิดเห็นซีอีโอจำนวน 5,050 คนใน 100 ประเทศและอาณาเขต ระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2564 และต่อมาถูกเผยแพร่ในวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 1 ปีหลังจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ ทั้งนี้ ตัวเลขในระดับโลกและระดับภูมิภาคจากผลสำรวจฉบับนี้ อ้างอิงกลุ่มตัวอย่างย่อยของซีอีโอจำนวน 1,779 ราย เพื่อให้ได้สัดส่วนกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คิดเป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ของแต่ละประเทศ และมั่นใจได้ว่าจะสะท้อนมุมมองของซีอีโอครอบคลุมทุกภูมิภาคหลัก
- มีซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 236 ราย ประกอบด้วย ซีอีโอจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย
- ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจและการเติบโตของรายได้ใมมองซีอีโอทั่วโลก (ฉบับเต็ม) ได้ที่ ceosurvey.pwc.
เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 155 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 284,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com
เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 62 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศ
PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2021 PwC. All rights reserved
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ