- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 04 March 2021 09:39
- Hits: 10997
ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 บอกอะไรเรา แล้วในปีนี้มีอะไรที่ควรต้องกังวล
ดร.ดอน นาครทรรพ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน
ปี 2563 เป็นปีแห่งฝันร้ายทางเศรษฐกิจของคนไทยทุกคน แม้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ติดลบร้อยละ 6.1 จะดีกว่าที่ทุกสำนักคาด และดีกว่าที่คาดกันไว้ว่าอาจจะติดลบใกล้เคียงเลขสองหลักเมื่อช่วงกลางปีมาก แต่ก็เป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี รองจากการหดตัวร้อยละ 7.6 ในปี 2541 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากขนาดของการหดตัวที่จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์เพิ่งแถลงไปเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งผมขอยกมาเล่าสู่กันฟัง 4 ประการ ดังนี้
ประการแรก แม้อัตราการขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่จะยังติดลบ แต่อัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter-on-quarter growth: QoQ) ที่ปรับฤดูกาลแล้วในไตรมาสสี่เท่ากับร้อยละ 1.3 เป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ชี้ถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจ และต่อให้อัตราการขยายตัวแบบ QoQ จะกลับมาติดลบจากผลพวงของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ก็น่าจะเป็นเพียงแค่ในไตรมาสแรกของปีนี้ไตรมาสเดียว (ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะติดลบ เพราะดูสถานการณ์เริ่มดีขึ้น) ทำให้เศรษฐกิจปีนี้จะไม่เข้าเกณฑ์ถดถอยทางเทคนิค ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบ QoQ ต้องติดลบติดต่อกันสองไตรมาส
ที่สำคัญ ขนาดของอัตราการขยายตัวแบบ QoQ ในไตรมาสสี่ที่ร้อยละ 1.3 นั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการขยายตัวแบบ QoQ ในภาวะปรกติที่ประมาณ 0.9 พอสมควร ทั้งๆที่โควิด-19 เริ่มระบาดระลอกใหม่ในช่วงท้ายไตรมาสแล้ว แสดงถึงแรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าที่ค่อนข้างดี ถ้าไม่ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เศรษฐกิจปีที่แล้วน่าจะหดตัวในช่วงร้อยละ 5 เท่านั้น และเศรษฐกิจปีนี้ก็จะมีจุดตั้งต้นที่ดีกว่าในปัจจุบันมาก
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยไม่ใช่เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ในปีที่แล้ว ประเทศในภูมิภาคที่โชคร้ายกว่าเรา คือ ฟิลิปปินส์ ที่เศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 9.5 ทำลายสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอินเดียที่ตัวเลขทั้งปียังไม่ออก แต่ก็คาดกันว่าจะหดตัวในระดับใกล้เคียงกันกับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ หลายประเทศที่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่าเราก็ไม่ได้ดีกว่ามากนัก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ (หดตัวร้อยละ 5.4 ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์สิงคโปร์) มาเลเชีย (หดตัวร้อยละ 5.6) หรือญี่ปุ่น (หดตัวร้อยละ 4.8) แต่ก็มีประเทศที่ดีกว่าพอสมควร เช่น อินโดนีเชีย (หดตัวร้อยละ 2.1) เกาหลีใต้ (หดตัวร้อยละ 1.0) จีน (ขยายตัวร้อยละ 2.3) และไต้หวัน (ขยายตัวร้อยละ 3.0) ซึ่งไต้หวันเป็นกรณีที่น่าทึ่งมาก เพราะอัตราการขยายตัวเท่ากับปี 2562 ที่ยังไม่มีโควิดเลย เทียบกับจีนที่แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวเช่นกัน แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงอย่างมีนัยจากร้อยละ 6.1 ในปี 2562
ประการที่สาม การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสสี่ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากปีก่อน หลังจากติดลบติดต่อกันสองไตรมาส แม้ตัวเลขนี้จะดูต่ำ แต่จริงๆแล้วต้องบอกว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก เพราะในทุกประเทศที่ผมหยิบยกมาข้างต้น ยกเว้นจีน มีอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ติดลบ กระทั่งไต้หวันที่จีดีพีรวมขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชนยังหดตัวร้อยละ 1.1 ซึ่งอัตราการขยายตัวเป็นบวกของไทยนี้ไม่ควรเป็นที่กังขา เพราะดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเพื่อติดตามภาวะการบริโภคภาคเอกชนรายเดือนก็ขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสี่เช่นกัน
คำถามคือทำไมไทยถึงทำได้ดีกว่าคนอื่น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งช่วยเติมสภาพคล่องและสร้างความมั่นใจในการใช้จ่ายให้กับประชาชน มาตรการที่รัฐร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายหลายมาตรการมีผลดีมาก สะท้อนจากไส้ในของตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่โตจากการใช้จ่ายในหมวดบริการ และหมวดสินค้าไม่คงทน ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่ได้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้ จึงเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปในช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ ซึ่งจะทำให้การประคับประคองเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีปัจจัยลบเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องตระหนักว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการในปัจจุบันมีต้นทุนทางการคลังสูง โดยที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน จริงๆ แล้ว การเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงทั้งประเทศ หรือแม้แค่ในบางพื้นที่ยุทธศาสตร์โดยเร็วที่สุด น่าจะคุ้มค่ากว่าในแง่ของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่อเม็ดเงินที่รัฐต้องจ่ายออกไป แต่ช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน ก็คงต้องซื้อเวลาด้วยมาตรการเหล่านี้ไปก่อน
ประการที่สี่ การลงทุนภาคเอกชนทั้งปีที่แล้วติดลบสูงมากที่ร้อยละ 8.4 ตัวเลขนี้ในตัวเองไม่ได้แปลกอะไร เพราะปรกติการลงทุนภาคเอกชนจะเหวี่ยงมากกว่าตัวเลขจีดีพีรวมอยู่แล้ว ประเด็นอยู่ที่สภาพัฒน์คาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนปีนี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งดูเผินๆเหมือนจะโอเค แต่ถ้าส่องดีๆ จะพบว่าตัวเลขนี้สูงกว่าคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีรวมที่ร้อยละ 2.5-3.5 ไม่มาก และน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนภาคเอกชนที่หายไปปีที่แล้ว จึงเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมาก
เป็นที่ทราบกันดีว่าการลงทุนเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่เหมือนกับการบริโภคที่บริโภคหมดแล้วก็หมดไป และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า ศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนรวม (รัฐและเอกชน) ต่อจีดีพี การกระตุ้นการลงทุนขนานใหญ่จึงเป็นโจทย์สำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพราะต่อให้เศรษฐกิจปีหน้าพุ่งทะยานจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สามารถคงการขยายตัวปีต่อปีในระดับที่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income trap) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปีได้ ถ้าการลงทุนภาคเอกชนไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอย่างมีนัย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ