- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 02 March 2021 17:10
- Hits: 9470
Krungthai COMPASS ฉายภาพการท่องเที่ยวไทย
เมื่อโลกยังไม่พร้อมใช้วัคซีนโควิดสำหรับเด็กและวัยรุ่น
โดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์
Krungthai COMPASS
• ตามแนวทางการแจกจ่ายวัคซีน เด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มท้ายๆ และในขณะนี้วัคซีนสำหรับผู้อายุต่ำกว่า 16 ปียังอยู่ในช่วงพัฒนาและทดลอง
• แม้ไทยจะอนุญาตนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน เดินทางเข้าประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัวในช่วงปลายปี 2021 แต่การที่เด็กยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ อาจทำให้หลายครอบครัวเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปก่อน ซึ่งประเมินว่านักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กมาด้วยมีสัดส่วนกว่า 20% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย
• ในช่วง 1-2 ปีนี้ โครงสร้างของนักท่องเที่ยวอาจไม่เหมือนเดิม ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรเตรียมพร้อมในการทำแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนวางแผนปรับรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ หากนักท่องเที่ยวไม่สามารถมาแบบครอบครัวได้
ในช่วงที่วัคซีนโควิด-19 เริ่มทยอยแจกจ่ายให้ประชากรในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ทำให้ภาพการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปีเริ่มชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี ภาพของนักท่องเที่ยวที่กำลังจะได้เห็นอาจมีหน้าตาที่แตกต่างไปจากเดิม เมื่อยังไม่ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวแบบครอบครัวจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กและวัยรุ่น หรือผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี และนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อนเดินทางเข้าประเทศ ในบทความนี้ได้แสดงให้เห็นภาพของการท่องเที่ยวเมื่อประชากรวัยเด็กและวัยรุ่นยังไม่มีวัคซีนจะเป็นอย่างไร โดยจะเริ่มต้นจากสถานการณ์การพัฒนาวัคซีนในประชากรกลุ่มดังกล่าวเป็นลำดับแรก
รู้หรือไม่ว่าในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กและวัยรุ่น และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
จากแนวทางการกระจายวัคซีนของกรมควบคุมโรคของสหรัฐฯ (รูปที่ 1) จะเห็นได้ว่าประชากรวัยเด็กและวัยรุ่น (อายุต่ำกว่า 18 ปี) เป็นหนึ่งในกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับวัคซีน ซึ่ง ณ ขณะนี้วัคซีนของ Pfizer มีแค่ของเฉพาะผู้ที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยทั้ง Pfizer และ Moderna ก็เพิ่งทำการทดลองกับกลุ่มเด็กอายุมากกว่า 12 ปีกล่าวอีกนัยหนึ่งคือวัคซีนของกลุ่มเด็กและวัยรุ่นยังอยู่ในช่วงการพัฒนาเท่านั้น และยังไม่แน่ชัดว่าจะพร้อมแจกจ่ายได้เมื่อไหร่
เหตุที่วัคซีนสำหรับเด็กถูกค้นพบช้ากว่าเพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ในบางครั้งเด็กจึงตอบสนองต่อวัคซีนแตกต่างจากผู้ใหญ่ และแม้ในกลุ่มเด็กด้วยกันเอง ภูมิคุ้มกันของเด็กก็แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ แม้ว่าวัคซีนของเด็กจะถูกพัฒนาสำเร็จได้ช้ากว่า แต่ข้อมูลพบว่าเด็กเป็นกลุ่มที่ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงจากการป่วยจากเชื้อโควิดต่ำกว่า เด็กจำนวนมากไม่มีแสดงอาการ หรือป่วยแต่ว่ามีอาการที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น มีไข้ไม่สูงมาก และเด็กที่มีอาการป่วยรุนแรงไม่พบได้มากนัก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กจาก Boston Children’s Hospital ได้ให้ความเห็นว่า การที่การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กมีความรุนแรงน้อยกว่า ทำให้มาตรฐานความปลอดภัยของวัคซีนสำหรับเด็กจึงยิ่งสูงขึ้น และทำให้การพัฒนาวัคซีนสำหรับเด็กใช้เวลานานกว่า
ถ้าเด็กฉีดวัคซีนได้ช้า แล้วกระทบการท่องเที่ยวอย่างไร?
ในขณะนี้ หลายประเทศมีแนวคิดที่จะให้ผู้เดินทางเข้าประเทศจำเป็นต้องมี Vaccine Passport ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงหลักฐานว่าบุคคลนั้นได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้เดินทางไปยังที่ต่างๆ จะไม่เป็นผู้ที่แพร่เชื้อโควิดในที่นั้นๆ ไม่เพียงแต่ภาครัฐ สายการบินเอกชนหลายรายก็สนับสนุนการใช้ Vaccine Passport เช่น สายการบิน Etihad และ Emirates ล่าสุด Air New Zealand ก็กำลังจะทดลองใช้ Digital Vaccine Passport ในเดือนเมษายนนี้
เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งเป็นการเที่ยวแบบครอบครัว เมื่อบุคคลในครอบครัวไม่สามารถเดินทางมาด้วยได้ โดยเฉพาะหากบุคคลนั้นเป็นเด็กที่ไม่สามารถอยู่บ้านตามลำพังได้ ทั้งครอบครัวก็อาจเลื่อนแผนการเที่ยวต่างประเทศออกไปก่อน หรือหันไปเที่ยวในประเทศแทน แม้จะยังไม่มีความแน่ชัดว่า ประชากรในวัยเด็กจะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศก็ได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากงานศึกษาในระยะหลังเริ่มชี้ว่าประชากรกลุ่มดังกล่าวสามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ ดังนั้นหากประเทศปลายทางมีแนวทางการรับนักท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง ก็มีความเป็นไปได้ที่ทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางเข้าประเทศ ในกรณีของไทย ก็ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีแนวทางการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ระมัดระวังอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ภาพของนักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้าอาจเป็นภาพที่เปลี่ยนไปจากที่เคย กล่าวคือ เราอาจเห็นภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีเฉพาะการเดินทางกับเพื่อนฝูง คู่รัก หรือเดินทางคนเดียวเป็นหลัก และเห็นการเดินทางมาแบบครอบครัวได้น้อย คำถามที่น่าสนใจถัดไปคือ แล้วไทยเราเคยรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวเยอะขนาดไหน?
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยเป็นกลุ่มครอบครัวเยอะขนาดไหน?
ผลสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในได้แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือนักท่องเที่ยวกลุ่มที่แบบมา “ครอบครัว/ญาติ/เพื่อน” ซึ่งมีสัดส่วนถึง 73.2% ในปี 2015 และเพิ่มขึ้นเป็น 78.5% ในปี 2018 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวเท่านั้น คาดว่าน่าจะมีสัดส่วนกว่า 23% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ประมาณ 85% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว จะเป็นการมาเที่ยวที่มีเด็กมาด้วย ดังนั้นจึงประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติแบบครอบครัวที่มีเด็กมาด้วยมีสัดส่วนกว่า 20% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 8 ล้านคนจากนักท่องเที่ยว 39.9 ล้านคนในปี 2019
สำหรับแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 แม้ว่า ทางการไทยอาจเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ดี ประเทศที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน มาเลเซีย อินเดีย ยังฉีดวัคซีนกันได้ไม่ทั่วถึงในช่วงปลายไตรมาส 3 ประกอบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ในช่วงแรกต่างก็เป็นบุคคลทางการแพทย์แนวหน้า หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเที่ยวต่างประเทศต่ำอยู่แล้ว และเมื่อรวมกับความเสี่ยงที่การเดินทางแบบครอบครัวอาจยังทำไม่ได้ ทำให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปีนี้ไทยอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 2.4 ล้านคน ยิ่งกว่านั้น หากทางการจีนยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางนอกประเทศได้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็อาจเหลือเพียง 2 ล้านคน
เตรียมพร้อมอย่างไร หากนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมาไม่ได้?
การที่นักท่องเที่ยวแบบครอบครัวอาจไม่สามารถมาได้ ได้เพิ่มโจทย์ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งคิดตั้งแต่ตอนนี้ หากอยากรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3-4 เนื่องจากนักท่องเที่ยวมักจองตั๋วเครื่องบินช่วงหน้า 3 เดือน และใช้เวลาในการตัดสินใจเที่ยวนานกว่านั้น
ในมุมของภาครัฐ โจทย์คงเป็นประเด็นว่าจะเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในกลุ่มใดที่มีทั้งการใช้จ่ายสูง และไทยเองก็มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย 104-164% และไทยเองก็มีจุดแข็งในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเมื่อพิจารณาจากผลสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในปี 2018 จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติพึงพอใจบริการสุขภาพของไทยมากที่สุด
ในมุมของธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจที่กำลังวางแผนจะลงโฆษณาแบบระบุเป้าหมายเฉพาะกลุ่มในโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวในช่วงปลายปี อาจต้องปรับกลยุทธ์การตลาดมาเน้นที่นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นแทน นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรรีบสำรวจตนเองว่า หากนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวมาได้ล่าช้าจะกระทบธุรกิจมากหรือไม่ โจทย์สำคัญคงเป็นว่าธุรกิจจะปรับรูปแบบกิจกรรม สถานที่ ที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวครอบครัวอย่างไร ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ได้แทน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง กลุ่มที่มาฮันนีมูน กลุ่ม Long Stay กลุ่มท่องเที่ยวแบบกีฬา เป็นต้น
A3079
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ