- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 27 October 2014 19:10
- Hits: 3169
TMB มองจีดีพีปีนี้ อาจโตได้แค่ 1.5% ส่วนปีหน้า เชื่อมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐหนุน จีดีพีโต 4%
TMB มองจีดีพีปีนี้อาจโตได้แค่ 1.5% จากเป้าเดิมที่ 2% ส่วนปีหน้ามองโต 4% รับอานิสงส์ มาตรการกระตุ้น ศก.รัฐหนุน ด้านส่งออกปีนี้คาดติดลบ 0.5% ปีหน้าโต 3-5% มองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ขยับ อยู่ที่ 32-32.50 บาทต่อดอลล์ รอลุ้นเฟดส่งซิกขึ้นดอกเบี้ย
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ศูนย์วิเคราะห์ฯมองว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้เพียง 1.5% จากเป้าหมายเดิมที่ 2% โดยสาเหตุหลักที่จีดีพีปีนี้ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้า การส่งออก การลงทุน และการบริโภคตกต่ำ ขณะที่ปีหน้าประเมินจีดีพีขยายตัวที่ 4% โดยมีแรงขับเคลื่อนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในการลงทุน
“ปีนี้เราคงไม่ได้หวังว่าจะเติบโตได้ถึง 2% มันคงยาก จากสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น การส่งออกฟื้นตัวล่าช้าจากเศรษฐกิจโลกที่แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป”นายเบญจรงค์ กล่าว
นายเบญจรงค์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการส่งออกปีนี้คาดว่าจะติดลบที่ 0.5% ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทั้งข้าว น้ำตาล จากราคาในตลาดโลกลดลง ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3-5% จากการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้คงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงการปรับเพิ่มขึ้นสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ GSP ของยุโรป และเศรษฐกิจยุโรปที่ยังอยู่ในภาวะตกต่ำ
“แม้ว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าปีนี้จะเพิ่มขึ้น แต่พอเปรียบเทียบเป็นการตีราคาแล้วมันแย่ เพราะในปีนี้ราคาสินค้าเกษตรมันตกต่ำมาก ส่งผลให้โดยภาพรวมแล้วการส่งออกชะลอ”นายเบญจรงค์
ทั้งนี้ ศูนย์วิจับประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสิ้นปีนี้คาดอยู่ที่ 32-32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ การส่งสัญญาณในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ว่าจะชัดเจนในช่วงเวลาใด ซึ่งหากในเร็วๆนี้มีความชัดเจน อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์
“ตอนนี้มันมีแค่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนคงจับตาอย่างมาก คือ ความชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐว่าจะมีความชัดเจนในตอนไหน ซึ่งหากชัดเจนมากก็อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทเหวี่ยงในทิศทางอ่อนค่าได้แรงขึ้น”นายเบญจรงค์ กล่าว
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแบบเร่งด่วนในการช่วยเหลือชาวนา 15 ไร่ วงเงินไร่ละ 1,000 บาทนั้น นายเบญจรงค์ มองว่า เป็นมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนวงเงินเพียง 40,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงมองว่าจะเป็นเพียงมาตรการพยุงรายได้เกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่คงไม่เพียงพอที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมได้
ทั้งนี้ มองว่า มาตรการให้สินเชื่อแก่ นาปี ข้าวเหนียว ที่วงเงิน 90% ของราคาตลาดนั้น มองว่าจะช่วยดึงให้ข้าวออกสู่ระบบได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่ามาตรการเดิมด้วย
“การให้เงินในครั้งนี้มันเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ที่ได้คงเป็นชาวนารายย่อยมากๆที่มีนา หรือสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งค่อนข้างเล็กมาก มันน่าจะเป็นเพียงมาตรการพยุงรายได้ให้กับชาวนา ชาวสวนมากกว่า คงไม่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากวงเงินแค่ 40,000 กว่าล้านบาท ขนาดวงเงินที่ชดเชยจำนำข้าวก่อนหน้านี้ที่ 90,000 กว่าล้านบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอกระตุ้น ครั้งนี้ก็ไม่น่าจะพอเช่นกัน”นายเบญจรงค์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย