- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 01 October 2020 22:34
- Hits: 24644
มาตรการ Yield Curve Control และ Negative Interest Rate Policy
กรณีศึกษาจากต่างประเทศ และนัยต่อนโยบายการเงินในไทย
โดย ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ([email protected]) ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น ([email protected]) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
พงศกร ศรีสกาวกุล ([email protected]) นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
• การผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศรวมถึงผู้ร่วมตลาดต่างให้ความสนใจมากขึ้นต่อการดำเนินมาตรการทางการเงินแบบพิเศษ (unconventional monetary measures)
• มาตรการ Yield Curve Control (YCC) ถูกนำมาใช้ทั้งในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไว้ ณ ระดับใดระดับหนึ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและสถาบันการเงิน ในปัจจุบันธนาคารกลางญึ่ปุ่น (BOJ) และออสเตรเลีย (RBA) ได้ใช้มาตรการ YCC โดยในกรณีของ BOJ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นจากระดับติดลบเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตและกองทุนบำเน็จบำนาญ ในขณะที่ RBA เลือกที่จะควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 3 ปี ให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อไม่ให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลาดเอียงจนเกินไป (flattening yield curve) จนกระทบเสถึยรภาพของสถาบันการเงิน
• ในระยะสั้นนี้โอกาสที่ ธปท. จะดำเนินมาตรการ yield curve control ในไทยยังมีจำกัด เนื่องจาก 1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว แม้ว่า ธปท. จะไม่มีการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างมีนัยในช่วง พ.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา 2) ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังไม่ลาดเอียง (flat) เกินไปจนสร้างความเสี่ยงให้แก่สถาบันการเงิน และ 3) คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน (well-anchored) อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว EIC ประเมินว่า ธปท. พร้อมกลับมาเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง และอาจประกาศใช้ YCC เพื่อจุดประสงค์ด้านการสื่อสารร่วมด้วย
• มาตรการ Negative Interest Rate Policy (NIRP) มีส่วนช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้นในบางประเทศ แต่ก็มีข้อจำกัดในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในทางปฏิบัติ แม้ใช้ NIRP แต่สถาบันการเงินอาจไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจนติดลบได้ (เพราะอาจเกิดการถอนเงินฝากเปลี่ยนไปถือเงินสดแทน) และเพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ไม่ให้ปรับลดลงมากนัก สถาบันการเงินจึงอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่น้อยกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ได้เต็มที่นัก
• ความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการ Negative Interest Rate Policy ในไทยมีไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว (bottomed out) ภาวะการเงินไทยเริ่มผ่อนคลายลงมาบ้าง ประสิทธิภาพของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง (เข้าใกล้ effective lower bound) และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานานอาจสร้างความเปราะบางเพิ่มเติมต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต
A10020
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ