- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 10 June 2020 11:26
- Hits: 1240
EIC มองอุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งด้านอุปสงค์และราคา จากผลกระทบของ COVID-19
แนะผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัว
• EIC ประเมินว่า การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทยผ่าน 3 ช่องทางได้แก่
1. อุปสงค์การใช้เหล็กในปี 2020 ของไทยคาดลดลงประมาณ 10%YOY มาอยู่ที่ 16.7 ล้านตัน โดยแบ่งเป็น เหล็กทรงแบนหดตัว 14%YOY มาแตะที่ระดับ 10 ล้านตัน จากผลของการผลิตรถยนต์และการก่อสร้างภาคเอกชนที่หดตัว เนื่องจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายและภาคธุรกิจมีแนวโน้มลงทุนลดลง ขณะที่เหล็กทรงยาวคาดปรับตัวลงเล็กน้อย 3.5%YOY มาอยู่ที่ 6.7 ล้านตัน เนื่องจากยังได้รับอานิสงส์จากงานก่อสร้างโครงการภาครัฐช่วยพยุงไว้
2. ความเสี่ยงจากภาวะอุปทานหยุดชะงัก (Supply disruption) การบริโภคเหล็กขั้นปลายของไทยรวมถึงวัตถุดิบ เช่น เหล็กขั้นกลาง เศษเหล็ก จำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคเหล็กทรงแบนขั้นปลาย ซึ่งมีการนำเข้าในสัดส่วนที่สูงถึงราว 75% อย่างไรก็ดี EIC มองว่า ความเสี่ยงโดยรวมยังไม่มากนัก เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 จนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติในปัจจุบัน
3. ราคาเหล็กมีแนวโน้มลดลง โดยราคาเฉลี่ยปี 2020 ของเหล็กทรงแบนคาดมีแนวโน้มหดตัว 9%YOY มาอยู่ที่ 18.0 บาท/กก. ขณะที่เหล็กทรงยาวคาดปรับตัวลดลง 7%YOY มาอยู่ที่ 18.3 บาท/กก. ตามทิศทางราคาเหล็กจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่ถูกกดดันจากความต้องการใช้เหล็กและราคาวัตถุดิบที่ลดลง อย่างไรก็ดี ราคาเหล็กในจีน มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 จากอานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในจีน ซึ่งอาจส่งผลกับราคาเหล็กในไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้าเหล็กจากจีนในปริมาณที่ค่อนข้างสูง
• EIC เสนอ 3 แนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการเหล็กภายใต้ภาวะที่ปัจจัยลบรุมเร้า ได้แก่
1. การบริหารสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสมรวมถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
2. การมองหาตลาดส่งออกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากนัก เช่น กลุ่มประเทศ CLMV อย่างไรก็ดี การส่งออกเหล็กไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีสัดส่วนที่ไม่สูงมากนักจึงอาจบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วน
3. การพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบและคุณภาพที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น
ในปี 2019 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ทั้งในแง่ของอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ การผลิตที่ถูกกดดันจากการนำเข้าเหล็กราคาถูก และราคาขายที่มีความผันผวน โดย EIC ประเมินว่า ปัจจัยที่กดดันให้อุปสงค์การใช้งานเหล็กปรับตัวลดลงในปี 2019 มีสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. ผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ.2019) และ พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) ที่ชะลอตัวภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ซึ่งทำให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่ใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างลดลงชั่วคราว 2. ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมปรับลดกำลังการผลิตสินค้าที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบลง เช่น ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลง 7%YOY มาอยู่ที่ราว 2 ล้านคัน เครื่องซักผ้ามียอดผลิตลดลง 18%YOY มาอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านเครื่อง เป็นต้น และ 3. มาตรการควบคุมสินเชื่ออาคารที่อยู่อาศัย (LTV) ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2019 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญสะท้อนได้จากมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ ในปี 2019 ที่หดตัวถึง 27%YOY มาอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้ส่งผลให้ การบริโภคเหล็กทรงยาวในปี 2019 ลดลง 7%YOY มาอยู่ที่ 7 ล้านตัน และการบริโภคเหล็กทรงแบนลดลง 2%YOY มาอยู่ที่ 11.6 ล้านตัน
นอกจากนี้ การแข่งขันจากสินค้าเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้ผลิตเหล็กไทยต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2019 ปริมาณการนำเข้าเหล็กขั้นปลาย (finished steel) ยังคงเพิ่มขึ้น 1.4%YOY มาอยู่ที่ 12.2 ล้านตัน ถึงแม้ว่าความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศจะลดลง โดยการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กทรงยาวหดตัวถึง 15%YOY มาอยู่ที่ 5 ล้านตัน ซึ่งลดลงมากกว่าการบริโภคที่หดตัว 7%YOY ขณะที่ปริมาณการผลิตเหล็กทรงแบนหดตัวถึง 22%YOY มาอยู่ที่ 2.6 ล้านตัน ซึ่งลดลงมากกว่าการบริโภคที่หดตัวเพียง 2%YOY โดยสินค้าเหล็กที่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2019 ได้แก่ เหล็กลวดคาร์บอน (wire rod) ที่ผลิตจากเหล็กทรงยาวขั้นกลาง (billet) เพิ่มขึ้น 23%YOY มาอยู่ที่ 5.2 แสนตัน, เหล็กแผ่นเจืออัลลอย เพิ่มขึ้น 25% มาแตะที่ระดับ 1.4 ล้านตัน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น 18%YOY มาอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่แข็งค่าขึ้น 4% ในปี 2019 ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ค้าเหล็กสามารถนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลงอีกด้วย
ทั้งนี้ในปี 2019 นับเป็นปีที่ราคาเหล็กในไทยมีความผันผวนตามการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็กในจีน โดยราคาเหล็กในจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กอันดับ 1 ของโลก (สัดส่วนราว 55% ของปริมาณการผลิตเหล็กทั้งหมด) มีอิทธิพลกับราคาเหล็กโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกที่มีการนำเข้าเหล็กจากจีนในสัดส่วนที่สูง และจีนถือเป็นประเทศที่ไทยมีการนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมากที่สุดโดยมีสัดส่วนราว 25% ของมูลค่านำเข้าเหล็กทั้งหมด ส่งผลให้ราคาเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนในไทยมีค่าสหสัมพันธ์ (correlation) กับราคาเหล็กในจีนที่ราว 80% และ 90% ตามลำดับ[1]
นอกจากนี้ ในปี 2019 ยังถือเป็นปีที่ราคาเหล็กในจีนมีความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. การปรับลดกำลังผลิตเหล็กในช่วงฤดูหนาวที่น้อยกว่าคาดของประเทศจีน (winter production cut) ส่งผลให้ราคาเหล็กปรับลดลงในช่วงต้นปี 2019 2. ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ราคาวัตถุดิบหลักอย่างสินแร่เหล็ก (iron ore) ได้มีปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงราว 30% จากความกังวลด้านปัญหาอุปทานขาดแคลน (supply shortage) ซึ่งเกิดจากประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ ออสเตรเลียและบราซิล โดยออสเตรเลียได้ประสบปัญหาภัยธรรมชาติไซโคลน ส่วนบราซิลประสบปัญหาเขื่อนที่ใช้กักเก็บน้ำภายในเหมืองแร่เหล็กแตก ทำให้ปริมาณการส่งออกสินแร่เหล็กของออสเตรเลียและบราซิลลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว และ 3. การเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของจีนทำให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการต้องเลื่อนออกไปในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นผลให้ราคาเหล็กจีนกลับมาหดตัวตามอุปสงค์ที่ลดลง ก่อนที่ราคาเหล็กจะกลับมาฟื้นตัวเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 4 จากผลของความต้องการใช้เหล็กในโครงการก่อสร้างที่ทยอยกลับมาเริ่มต้นก่อสร้างอีกครั้ง โดยความผันผวนดังกล่าวได้ถูกส่งผ่านไปยังราคาเหล็กในต่างประเทศรวมถึงไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเหล็กทรงแบนซึ่งมีการพึ่งพิงการนำเข้าถึงราว 75% ของการบริโภคเหล็กทรงแบนทั้งหมดที่ตลอดทั้งปี 2019 ราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวของไทยปรับตัวลดลง 7%YOY ลงมาอยู่ที่ 19.6 บาท/กิโลกรัม และเหล็กทรงแบนปรับตัวลดลง 10%YOY มาแตะที่ 19.8 บาท/กิโลกรัม ตามทิศทางราคาเหล็กในจีน ซึ่งความผันผวนของเหล็กดังกล่าวประกอบราคาขายเหล็กที่ลดลงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการผลิตและค้าเหล็กหดตัวลง รวมถึงต้องเผชิญกับการขาดทุนสินค้าคงคลัง (Inventory loss) อีกด้วย
รูปที่ 1 : ราคาเหล็กในจีนและราคาเหล็กในไทยมีความผันผวนภายใต้แนวโน้มขาลงตลอดปี 2019
หมายเหตุ : ราคาเฉลี่ยเหล็กในไทยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของราคาเหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. ใน กทม. และเหล็กแผ่นรีดร้อนหนา 2 มม. ใน กทม. ราคาเฉลี่ยเหล็กในจีนอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยของ ราคาเหล็กเส้นขนาด 25 มม. และ ราคาเฉลี่ยเหล็กแผ่นรีดร้อน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT), Bloomberg และ Goldman Sachs
การระบาดของ COVID-19 ถือเป็นปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติมอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย EIC ประเมินผลกระทบของ COVID-19 ผ่าน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. อุปสงค์การใช้เหล็กลดลงจากการชะลอตัวในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เหล็ก 2. ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอุปทานหยุดชะงักจากประเทศคู่ค้าบางรายที่ไทยมีการนำเข้าเหล็กและยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศได้ และ 3. ราคาเหล็กหดตัวซึ่งเกิดจากภาวะอุปทานส่วนเกินในจีนรวมถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออก
1. EIC ประเมินว่า การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลต่ออุปสงค์การใช้เหล็กของไทยผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ การลงทุนภาคเอกชน, การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกของไทย
• การลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง EIC ประเมินว่า การก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงราว 8%YOY มาอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาทในปี 2020 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกหมวดต้องหยุดชะงักลง และส่งผลต่อไปยังการตัดสินใจของภาคเอกชนในการเลื่อนการลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ออกไป ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น อาคารที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ คอนโดมิเนียม ที่การเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากปริมาณยูนิตเหลือขายสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 9.6 หมื่นหน่วย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2020 ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่หดตัวรวมถึงผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่เริ่มใช้ในปี 2019 ส่งผลให้การก่อสร้างคอนโดมิเนียมใหม่มีแนวโน้มลดลงสะท้อนได้จาก พื้นที่การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่หดตัว 37%YOY ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2019 มาอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านตารางเมตร และหดตัวต่อเนื่องถึง 63%YOY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 มาอยู่ที่ 1.6 แสนตารางเมตร ขณะที่การก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ทั้งห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงานต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
โดยมาตรการ lockdown ของภาครัฐที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้เพียงบางส่วน ถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ผู้ซื้อยังคงมีความกังวลในการแพร่ระบาดของโรคจึงยังคงไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากนัก ประกอบกับการเติบโตของ e-commerce ที่ให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่ห้างสรรพสินค้าที่ก่อสร้างใหม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนได้จากพื้นที่การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่หดตัว 26%YOY ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2019 มาอยู่ที่ราว 3 ล้านตารางเมตร และหดตัวต่อเนื่อง 11% มาอยู่ที่ 9.7 แสนตารางเมตร ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 ขณะที่การก่อสร้างอาคารสำนักงานมีโอกาสได้รับผลกระทบจากมาตรการ work from home ที่บริษัทเอกชนหลายแห่งได้มีการนำมาใช้เพื่อเป็นการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ซึ่งมาตรการ work from home นี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบให้ความต้องการในการเช่าอาคารสำนักงานลดลงในระยะสั้น แต่ยังอาจส่งผลถึงระยะยาว หากบริษัทเอกชนในไทยอนุญาตให้พนักงานบางส่วน work from home ได้ถึงสิ้นปีหรือเป็นการถาวร ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าลดลงไปด้วย โดยพื้นที่การขอใบอนุญาตก่อสร้างหดตัว 26%YOY ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2019 มาอยู่ที่ 5.6แสนตารางเมตร และปรับตัวลดลงต่อเนื่องถึง 76%YOY มาอยู่ที่ 1.3 แสนตารางเมตร ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020
• การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น มาตรการ lockdown มาตรการ curfew มาตรการปิดน่านฟ้า ได้ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดย EIC ประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานจากผลของวิกฤต COVID-19 จะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานประมาณ 8%-13% ของกำลังแรงงานในปัจจุบัน ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 1985 รวมถึงแรงงานอีกบางกลุ่มที่แม้จะไม่ตกงานแต่จำนวนชั่วโมงทำงานและรายได้ลดลง ปัจจัยดังกล่าวประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบ เช่น รถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้เหล็กคิดเป็น 55%-65% ของน้ำหนักรถ ที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 ที่หดตัวถึง 34%YOY มาอยู่ที่ 2.3 แสนคัน ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า แนวโน้มการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัว 30%-50% มาอยู่ที่ราว 7 แสน – 5 แสนคัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องซักผ้าที่มียอดจำหน่ายในประเทศช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ลดลง 18%YOY มาอยู่ที่ราว 4 แสนเครื่อง และมีโอกาสหดตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ เป็นต้น
• การส่งออกของไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากคาดการณ์ของ EIC ที่คาดว่า GDP ของโลก ในปี 2020 จะมีโอกาสหดตัวราว 4% โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยมีการส่งออกเหล็กในปริมาณที่สูง เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อินเดีย ต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างมากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย EIC ประเมินว่า การหดตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่หลักจะส่งผลต่อการส่งออกเหล็กของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศคู่ค้าโดยตรงมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าส่งออกที่หดตัว 12%YOY มาอยู่ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 ขณะที่ทางอ้อมการส่งออกสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ เช่น การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก มีแนวโน้มปรับตัวลงเช่นเดียวกัน โดยยอดส่งออกรถยนต์มีการปรับตัวลดลง 26%YOY มาอยู่ที่ 2.7 แสนคัน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 และมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ดี อุปสงค์การใช้เหล็กคาดว่าจะได้รับแรงพยุงจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ราว 4.5%YOY มาอยู่ที่ระดับ 7.6 แสนล้านบาทในปี 2020 โดยมีแรงหนุนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟรางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์ ผนวกกับโครงการขนาดกลางและเล็กของภาครัฐ ที่เริ่มมีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ได้รับการอนุมัติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวก จากการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการก่อสร้างขนาดกลางและเล็กเพิ่มเติมจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ด้วยสัดส่วนมูลค่าโครงการก่อสร้างภาครัฐที่มีมากกว่ามูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนที่ราว 30% การเติบโตของมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2020 จึงเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยพยุงความต้องการใช้เหล็ก โดยเฉพาะเหล็กทรงยาวให้หดตัวเพียงเล็กน้อย
จากที่ได้กล่าวมา EIC ประเมินว่า ในปี 2020 ปริมาณการใช้เหล็กในไทยโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 10%YOY มาอยู่ที่ประมาณ 16.7 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มลดลง 3.5%YOY มาอยู่ที่ 6.7 ล้านตัน ขณะที่เหล็กทรงแบนคาดหดตัว 14%YOY ลงมาแตะที่ระดับ 10 ล้านตัน
รูปที่ 2 : คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในไทย (Apparent consumption)
หมายเหตุ : Apparent consumption หรือการบริโภคปรากฏคำนวณภายใต้สมมติฐานว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณสินค้าคงคลัง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT)
2. ภาวะอุปทานหยุดชะงัก (supply disruption) คาดส่งผลต่อการผลิตเหล็กทรงยาวในไทยไม่มากนักเนื่องจากประมาณ 65% ของการบริโภคเหล็กทรงยาวในไทยมาจากการผลิตในประเทศซึ่งใช้วัตถุดิบในไทยเป็นหลัก ถึงแม้การนำเข้าเหล็กทรงยาวขั้นปลายจะมีสัดส่วนถึง 35% แต่ประเทศคู่ค้าหลักอย่าง จีน สามารถกลับมาผลิตเหล็กได้ในระดับใกล้เคียงปกติในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา หลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย โดยจากข้อมูลการผลิตเหล็กทรงยาวของผู้ผลิตรายใหญ่[2]ของไทยในปี 2019 พบว่า ราว 85% ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กทรงยาวขั้นปลายซึ่งได้แก่ เหล็กแท่งยาว (billet) และเศษเหล็ก (scrap) มีการจัดหามาจาก supplier ภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ของไทยอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ใกล้เคียงปกติ ส่งผลให้ช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนเหล็กแท่งยาวและเศษเหล็กลงได้ นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาการผลิตเหล็กขั้นกลางของไทย (billet, slab และ bloom) ยังสามารถผลิตได้ตามปกติ สะท้อนได้จากปริมาณการผลิตซึ่งเติบโตเล็กน้อยที่ 0.5%YOY มาอยู่ที่ 3.6 แสนตัน
ขณะที่การนำเข้าเหล็กทรงยาวขั้นปลายมีสัดส่วนราว 35% ของการบริโภคในประเทศ โดยมีประเทศคู่ค้าหลักได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ มาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนนำเข้ารวมประมาณ 80% ของการนำเข้าเหล็กทรงยาวขั้นปลาย คาดว่าได้รับผลกระทบจำกัดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีนที่มีสัดส่วนนำเข้าเป็นอันดับ 1 (สัดส่วนราว 15% ของการบริโภคเหล็กทรงยาวในไทยทั้งหมด) ได้คลี่คลายลงจนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติ สอดคล้องกับปริมาณการผลิตเหล็กของจีนในเดือน มีนาคม ที่หดตัวเพียง 1.7%YOY และเดือนเมษายน กลับมาเติบโตเล็กน้อย 0.2%YOY ผนวกกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กทรงยาวในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำที่ราว 35% ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการได้หากเกิดภาวะอุปทานจากต่างประเทศหยุดชะงัก (supply disruption)
อย่างไรก็ดี อุปทานเหล็กทรงแบนในไทยมีความเสี่ยงจาก supply disruption เนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้าเหล็กทรงแบนขั้นปลายกว่า 75% ของการบริโภคเหล็กทรงแบนขั้นปลายทั้งหมด สำหรับส่วน ที่เหลือ แม้เป็นการผลิตในประเทศแต่ยังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบ (slab) จากต่างประเทศเป็นหลัก ในด้านการนำเข้า ไทยมีการนำเข้าเหล็กทรงแบนขั้นปลายจากประเทศคู่ค้าหลัก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 80% ของการนำเข้าเหล็กทรงแบนขั้นปลายทั้งหมด โดยในปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศคู่ค้าหลักทั้ง 3 ประเทศข้างต้นต่างคลี่คลายจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติ ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปทานหยุดชะงักได้เป็นส่วนมาก ทั้งนี้ปริมาณการนำเข้าเหล็กทรงแบนขั้นปลายในเดือนเมษายนยังไม่ได้แสดงถึงภาวะอุปทานหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ โดยปริมาณการนำเข้ารวมลดลงเล็กน้อย 1%YOY มาอยู่ที่ราว 8.1 แสนตัน ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง
ขณะที่การผลิตเหล็กทรงแบนขั้นปลายในประเทศซึ่งมีสัดส่วนราว 25% ของการบริโภคนั้นต้องทำการนำเข้า slab ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศเพื่อนำมารีดเป็นเหล็กทรงแบนขั้นปลายต่อไป โดยมีประเทศคู่ค้าหลักได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย ยูเครน และ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 80% ของการนำเข้า slab ทั้งหมด โดยในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COIVD-19 ในประเทศรัสเซีย ยูเครน และ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (สัดส่วนรวมราว 50% ของการนำเข้า slab ปี 2019) ยังไม่คลี่คลายดีนัก จึงอาจส่งผลให้การนำเข้า slab จากประเทศเหล่านี้หยุดชะงักลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้า slab ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งพบว่าไม่มีการนำเข้าจากประเทศรัสเซีย เทียบกับช่วงเดือนเมษายน 2019 ซึ่งมีการนำเข้า slab จากรัสเซียราว 2.1 หมื่นตัน อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้า slab โดยรวมลดลงเพียง 7%YOY เนื่องจากผู้ประกอบการหันไปนำเข้า slab จากประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชยอุปทานที่ลดลงจากรัสเซีย โดยการนำเข้า slab จากญี่ปุ่นในเดือนเมษายน 2020 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 38%YOY มาอยู่ที่ 5.7 หมื่นตัน
อย่างไรก็ตาม การระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 (Second wave) ในประเทศข้างต้นยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังทั้งการนำเข้าเหล็กทรงยาวและทรงแบนทั้งในลักษณะของสินค้าเหล็กขั้นกลางและเหล็กขั้นปลาย เนื่องจากรัฐบาลอาจบังคับใช้มาตรการ lockdown อีกครั้งเพื่อควบคุมการระบาด และส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานหยุดชะงักขึ้นได้
3. ราคาเฉลี่ยเหล็ก[3] ในจีนซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากกับราคาเหล็กในไทยมีแนวโน้มหดตัว 9%YOY มาอยู่ที่ราว 520 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในปี 2020 จากปัจจัยกดดันด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวและราคาวัตถุดิบที่ลดลง โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา การเริ่มระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างและภาคการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีการบริโภคเหล็กของจีน ผลกระทบดังกล่าวทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของจีนปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณสินค้าเหล็กคงคลัง ณ สิ้นเดือน เมษายน ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติถึงราว 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปีก่อนหน้า โดย JPMorgan ได้ประเมินว่า COVID-19 จะส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของจีนในปี 2020 ลดลงประมาณ 2% หรือราว 20 ล้านตัน (ณ 10 พฤษภาคม 2020) ประกอบกับ Goldman sachs คาดการณ์ว่าราคาวัตถุดิบหลักอย่าง สินแร่เหล็ก[4] (Iron ore) จะมีราคาลดลง 15%YOY ในปี 2020 มาอยู่ที่ราว 79 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เช่นเดียวกับ ถ่านโค้กซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในการถลุงเหล็ก ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 19%YOY มาแตะที่ระดับ 144 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง (ณ 18 พฤษภาคม 2020)
จากภาวะอุปสงค์ที่อ่อนแอผนวกกับราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง EIC คาดว่าราคาเฉลี่ยเหล็กในจีนทั้งปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวราว 9%YOY มาอยู่ที่ 520 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันในปี 2020 ซึ่งสอดคล้องราคา spot ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ได้มีการปรับตัวลดลงราว 10% นับตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 ราคาเหล็กมีแนวโน้มฟื้นตัวเนื่องจากรัฐบาลจีนมีแผนเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและสาธารณูปโภคทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย Goldman Sachs ได้มีการปรับประมาณการณ์การเติบโตของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนในปี 2020 ขึ้นเป็นเติบโต 11%YOY (ณ 15 เมษายน 2020) เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดิมเมื่อช่วงต้นปีที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 6.5%YOY ซึ่งจะช่วยชดเชยความต้องการใช้เหล็กที่ลดลงจากภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต โดยเฉพาะเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก
รูปที่ 3 : ปริมาณสินค้าเหล็กคงคลังในจีน ณ สิ้นเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นราว 50% เทียบค่าเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg
นอกจากประเทศจีนแล้วสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่ไทยมีการนำเข้าเหล็กในสัดส่วนที่สูง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย เป็นต้น ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและอาจส่งผลกระทบต่อราคาเหล็กของไทย การระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก และกดดันให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกมีแนวโน้มหดตัวอย่างมีนัยสำคัญจากผลของการชะลอตัวจากทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ก่อสร้าง, การผลิตรถยนต์ และการผลิตเครื่องจักร ซึ่งจากผลของอุปสงค์ที่หดตัว ได้ส่งผลให้ราคาเหล็กทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยราคาเฉลี่ยเหล็กในประเทศแถบเอเชียตะวันออกและรัสเซียในช่วงเดือนเมษายน 2020 มีทิศทางปรับตัวลดลง 7%-20%[5] เทียบกับราคาช่วงปลายปี 2019 ซึ่งการลดลงของราคาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อราคาเหล็กในไทย ในกรณีที่ผู้ประกอบการของประเทศเหล่านี้ต้องการระบายสินค้าคงคลังผ่านการส่งออกและตัดสินใจทุ่มตลาดส่งออกเหล็กราคาถูกมายังประเทศไทยเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากความต้องการภายในประเทศที่หดหายจากผลของ COVID-19 โดยเฉพาะจากประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศส่งออกเหล็ก (Net steel exporter) และไทยมีสัดส่วนนำเข้าเหล็กจากกลุ่มประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55%[6] ในปี 2019
EIC ประเมินว่าในปี 2020 ราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวในไทย มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 7%YOY มาอยู่ที่ราว 18.3 บาท/กก. ตามทิศทางราคาเหล็กในจีน ถึงแม้ว่าปริมาณการบริโภคเหล็กทรงยาวในไทยมีแนวโน้มหดตัวเพียงเล็กน้อยในปี 2020 แต่ราคาเหล็กทรงยาวของไทยยังมีโอกาสหดตัวตามราคาเหล็กของจีน ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตราว 55% ของการผลิตเหล็กดิบทั้งโลก โดยราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวในไทยมีค่าสหสัมพันธ์ (correlation) กับราคาเหล็กทรงยาวในจีนสูงถึง 80% และตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาราคาเหล็กทรงยาวในจีนได้ปรับตัวลดลงไปราว 7%YTD มาอยู่ที่ 525 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (ณ 30 เมษายน 2020) จากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งทำให้ความต้องการใช้เหล็กในภาคก่อสร้างของจีนชะลอตัวลง จึงทำให้ราคาเหล็กในไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ราคาเหล็กทรงยาวในจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 เนื่องจากรัฐบาลจีนมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผลให้ราคาเหล็กทรงยาวในจีนมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
EIC คาดว่าราคาเฉลี่ยเหล็กทรงแบนในไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 9%YOY มาอยู่ที่ราว 18.0 บาท/กก. ตามแนวโน้มราคาเหล็กทรงแบนในจีนซึ่งถูกกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินในประเทศ เช่นเดียวกับกรณีของเหล็กทรงยาว ราคาเหล็กทรงแบนของไทยมีค่าสหสัมพันธ์กับราคาเหล็กทรงแบนของจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกถึง 90% ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาเหล็กทรงแบนในจีนหดตัวลงถึง 13%YTD มาอยู่ที่ 480 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (ณ 30 เมษายน 2020) จากผลกระทบของ COVID-19 โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 ราคาเหล็กทรงแบนในจีนมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของจีนน้อยกว่าในกรณีของเหล็กทรงยาว เนื่องจากการบริโภคเหล็กทรงแบนในจีนบางส่วนถูกใช้ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ และการผลิตเครื่องจักร ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยตรง
รูปที่ 4 : ราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวและทรงแบนของไทยมีแนวโน้มหดตัว 7%YOY และ 9%YOY ในปี 2020
หมายเหตุ : 1. ราคาเหล็กไทยอ้างอิงจากราคาเหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. ใน กทม. และ เหล็กแผ่นรีดร้อนหนา 2 มม. ใน กทม. ราคาเหล็กจีนอ้างอิงจาก เหล็กเส้นขนาด 25 มม. และราคาเฉลี่ยเหล็กแผ่นรีดร้อน 2. ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ของราคาเหล็กรายเดือน โดยราคาเหล็กไทยปรับตัวตามหลังราคาเหล็กจีนราว 1 เดือน (laggard)
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT), Bloomberg และ Goldman Sachs
EIC ประเมิน 3 แนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการเหล็กภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกดดันต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งในแง่อุปสงค์ อุปทาน และ ราคา ประกอบไปด้วย
• การบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเหล็กทั้งสำหรับผู้ผลิตเหล็กที่ต้องรับความเสี่ยงในส่วนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตและผู้ค้าเหล็กที่มีการนำเข้าสินค้าเหล็กขั้นกลางและขั้นปลายเพื่อนำมาจำหน่ายต่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาเหล็กและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าปกติ สะท้อนได้จากราคาเหล็กจีนที่มีการปรับตัวลดลงเฉลี่ยถึง 12% ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือนนับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาดในจีน และค่าเงินบาทซึ่งมีการอ่อนค่าเทียบสกุลดอลลาร์สหรัฐถึงราว 10% ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ดังนั้น เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงจากการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ (stock loss) ผู้ประกอบการจึงควรรักษาระดับสินค้าคงคลังและระยะเวลาขายไม่ให้อยู่ในระดับเกินกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ซึ่งโดยทั่วไปมีระยะเวลาขายอยู่ที่ราว 45-75 วัน รวมถึงการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging) สำหรับผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าขั้นกลาง และสินค้าขั้นปลายจากต่างประเทศในปริมาณมาก ทั้งนี้ EIC ประเมินอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 อยู่ในกรอบ 31.5-32.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่จะยังคงมีความผันผวนอยู่มาก
• การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากนัก สืบเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยมีการส่งออกสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เป็นปริมาณมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อินเดีย ต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะส่งผลถึงความต้องการบริโภคเหล็กของประเทศดังกล่าวให้หดตัวตามไปด้วย เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากตลาดส่งออกหลักที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการควรมองหาตลาดใหม่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่มากนัก เช่น กลุ่มประเทศ CLMV โดยการส่งออกสินค้าเหล็ก[7] ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ในปี 2019 มีการเติบโต 9%YOY สวนทางกับปริมาณการส่งออกเหล็กรวมของไทยที่หดตัวแรงถึง -27%YOY แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้เหล็กในภูมิภาค CLMV ที่เติบโตได้อย่างดี และถึงแม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV เติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปี 2020 แต่ภาคการก่อสร้างในหมวดโครงสร้างพื้นฐานคาดว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก โดยที่ผ่านมา World Bank ได้ระบุในประมาณการณ์เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า การลงทุนในสินทรัพย์คงทน (Gross fixed capital investment: GFCF) ของเวียดนามมีแนวโน้มเติบ 7%YOY ในปี 2020 เช่นเดียวกับ เมียนมาที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่กัมพูชาแม้ว่าคาดการณ์การเติบโตของ GFCF จะหดตัวเล็กน้อย 2%YOY เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่สูงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ในระยะกลางคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ประมาณ 7% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2021-2022 อย่างไรก็ดี สัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV คิดเป็นเพียงราว 20% ของการส่งออกเหล็กทั้งหมดจึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
• การพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบและคุณภาพที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็กลวด (wire rod) เกรดพิเศษ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการผลิตรถยนต์ ทำให้มีอุปสงค์รองรับที่หลากหลาย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งหยุดชะงักลง รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่กำหนดในโครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ (Megaproject) เพื่อสร้างโอกาสจากนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคมที่สนับสนุนการใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศ (local content) มากขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการขนส่งสินค้าที่เข้มงวดขึ้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้รับเหมารายย่อยและผู้บริโภคทั่วไปในปัจจุบันที่นิยมซื้อขายของผ่านทางออนไลน์มากขึ้น
โดยสรุป การระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยกดดันให้ความต้องการบริโภคและราคาเหล็กในไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะเหล็กทรงแบนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าเหล็กทรงยาวเนื่องจากการชะลอตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การเติบโตของการก่อสร้างภาครัฐถือเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงความต้องการใช้เหล็กทรงยาวให้หดตัวเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ราคาเหล็กอาจมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังตามราคาเหล็กของจีนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะของอุตสาหกรรมที่ไม่สดใสนัก ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวทั้งในด้านการบริหารสินค้าคงคลัง การมองหาตลาดส่งออกใหม่ที่ภาคก่อสร้างยังสามารถเติบโตได้ เช่น ประเทศในกลุ่ม CLMV และการพัฒนาสินค้าให้มีรูปแบบและคุณภาพที่สามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น
ภาคผนวก : ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเหล็กโดยสังเขป
โดยทั่วไป สินค้าเหล็กสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทตามชนิดของเหล็กขั้นกลางที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ 1. เหล็กทรงแบน (Flat product) ผลิตจากเหล็กแท่งแบน (Slab) มีสัดส่วนประมาณ 60% ของการปริมาณเหล็กทั้งหมดที่บริโภคในไทยในปี 2019 หรือ ราว 11.5 ล้านตัน โดยเหล็กทรงแบนถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรมเช่น ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ก่อสร้าง เป็นต้น และ 2. เหล็กทรงยาว (Long product) ผลิตจากเหล็กแท่งยาว (billet) และ เหล็กแท่งใหญ่ (bloom) มีสัดส่วนการบริโภคที่ราว 40% หรือประมาณ 7 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่เหล็กทรงยาวจะถูกใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างต่างๆ
ในด้านของผู้ประกอบการเหล็กในไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผู้ผลิตเหล็ก และ ผู้ค้าเหล็ก โดยผู้ผลิตเหล็กส่วนมากจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งมีการผลิตตั้งแต่ขั้นกลางน้ำที่ใช้เศษเหล็ก (scrap) หรือ เหล็กดิบ (pig iron) เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นเหล็กขั้นกลางก่อนนำไปรีดต่อเป็นเหล็กขั้นปลายหรือเหล็กสำเร็จรูปในที่สุด จึงทำให้มีการใช้เงินลงทุนในการประกอบกิจการสูง ขณะที่ผู้ค้าเหล็กซึ่งมีตั้งแต่ผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงรายใหญ่ เป็นผู้นำเข้าเหล็กขั้นปลายและผลิตภัณฑ์เหล็กจากต่างประเทศเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง
รูปที่ 5 : แผนภาพแสดงห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเหล็กโดยสังเขป
หมายเหตุ : สัดส่วนการใช้งานเหล็กในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปี 2018
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ISIT
******************************************
[1] ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ของราคาเหล็กรายเดือน โดยราคาเหล็กไทยปรับตัวตามหลังราคาเหล็กจีนราว 1 เดือน (laggard)
[2] อ้างอิงจากแบบ 56-1 ของผู้ผลิตเหล็กทรงยาวรายใหญ่ 2 รายที่มีปริมาณการผลิตรวมคิดเป็นราว 45% ของปริมาณการผลิตเหล็กทรงยาวในประเทศ
[3] ราคาเฉลี่ยเหล็กของจีน อ้างอิงจากราคาเฉลี่ยเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็ก Rebar เส้นผ่านศูนย์กลาง 25 มม.
[4] ราคาสินแร่เหล็ก อ้างอิงจาก สินแร่เหล็กชนิด 62% Fe
[5] อ้างอิงจากดัชนีราคาเหล็กประเภท Bar และ HRC ของเอเชียตะวันออก, ญี่ปุ่น, และรัสเซีย ซึ่งรวบรวมโดย ISIT
[6] อ้างอิงพิกัดศุลกากร (HS.Code) 72
[7] อ้างอิงจากพิกัดศุลกากร (HS.Code) 72
******************************************
บทวิเคราะห์จาก... https://www.scbeic.com/th/detail/product/6867
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : โอฬาร เอื้อวิทยาศุภร ([email protected])
นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line: @scbeic
AO6181
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web