- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 24 March 2020 21:26
- Hits: 2499
ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับลดลง จากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 23 – 27 มีนาคม 2020
วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 มี.ค.) ตลาดหุ้นโลกปรับร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงอย่างมาก แม้ว่า Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน และเตรียมเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE รวมทั้ง ทยอยออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบก็ตาม ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับลดลงจากแรงขายหุ้นกลุ่มสายการบิน หลังสหภาพยุโรป (EU) เสนอห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้า EU ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า มาตรการปิดประเทศในหลายประเทศของยุโรป จะทำให้เศรษฐกิจของ EU หดตัวลง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงลบ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน และเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ขณะที่ ECB ประกาศโครงการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของภาคเอกชนและภาครัฐ ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงเล็กน้อย โดยดัชนีฯ ปรับลดลงในช่วงแรก จากความกังวลผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทย แต่ดัชนีฯ ได้แรงหนุนช่วงท้ายสัปดาห์ หลังธนาคารกลางหลายแห่งอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ด้านราคาน้ำมันปรับลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากความกังวลว่าการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกดดันความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ความล้มเหลวในการร่วมมือกันปรับลดการผลิตระหว่างโอเปก และกลุ่มประเทศผู้ผลิตอื่นๆ รวมถึงรัสเซีย ยังคงส่งผลกดดันราคาน้ำมัน
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับลดลง และเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตยังปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยนักลงทุนกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในบางประเทศ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ทั้งนี้ เราคาดว่าการลงทุนโดยรวมยังมีแนวโน้มอยู่ในภาวะ Risk-Off (เข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย และขายสินทรัพย์เสี่ยง) แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามใช้นโยบายทางการเงิน และการคลังเข้ามาบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ การที่ Fed เปิดให้กู้ยืมเงินดอลลาร์ สรอ. กับธนาคารกลางหลายแห่ง รวมทั้ง การที่ Fed จะเข้าซื้อหุ้นกู้ระยะสั้นโดยตรงจากบริษัทผู้ออกตราสาร และประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามกฎหมายเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นรอบที่ 2 วงเงินประมาณ 150 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นรอบที่ 3 วงเงิน 1,300 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดัน จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มปรับลดลง หลังซาอุดิอาระเบียเตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. ขณะที่ ความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจะทยอยออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบก็ตาม
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
• ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
• ติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เราคาดว่า ที่ประชุมมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. รวมทั้ง มีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์ GDP และอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ลง จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ
• ติดตามผลการประชุม BoE เราคาดว่า จะคงนโยบายการเงิน ในการประชุมวันที่ 26 มี.ค. หลังผลการประชุมรอบฉุกเฉินของ BOE ที่ประชุมได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอยู่ที่ 0.10% และจะเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อีก 2 แสนล้านปอนด์ พร้อมทั้ง พิจารณาขยายวงเงินโครงการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเน้นการปล่อยกู้แก่ SMEs
• การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของจีน ในไตรมาส 4/2019 รวมทั้งการให้มุมมองต่อผลประกอบการในระยะถัดไป
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
◼︎ ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ของยูโรโซน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น, ดัชนี PMI ภาคการบริการ ของยูโรโซน และสหรัฐฯ, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน GDP ในไตรมาส 4/2019 และดัชนีราคาพื้นฐานด้านการบริโภคส่วนบุคคล ของสหรัฐฯ
◼︎ เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของจีนในไตรมาส 4/2019 ผลการประชุมกนง. และผลการประชุม BoE
AO3494
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web