- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 18 March 2020 13:38
- Hits: 4075
Fed ลดดอกเบี้ยเหลือ 0%-0.25% และกลับมาทำ QE;
EIC คาด กนง. ลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 25 bps
ภายในการประชุมเดือนมีนาคมนี้
• Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน 100 bps มาอยู่ที่ 0-0.25% พร้อมประกาศเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลกระทบจาก COVID-19 ต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าคาด และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดย EIC คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 2020 จะเติบโตเหลือเพียง 0.3% และจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี
• ธนาคารกลางหลักอื่นๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยหลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ยลงล่าสุด ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 50 bps ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรอีก 2 ล้านล้านเยน โดยเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETFs และ J-REITs ต่อปี และดำเนินโครงการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งใช้หุ้นกู้ภาคเอกชนเป็นหลักประกัน
• EIC คาด กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 25 bps ภายในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม 2020 นี้ และอาจมีมาตรการด้านอื่นๆ ประกอบ เช่น forward guidance และโครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loans)
• ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ไทยที่ปรับสูงขึ้น และภาวะสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ
Key points
Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน 100 bps มาอยู่ที่ 0-0.25% พร้อมเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 ที่มากกว่าคาด
และยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
ในวันที่ 16 มีนาคม 2020 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินนอกวาระการประชุมปกติ ซึ่งคณะกรรมการ FOMC มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 100 bps จากกรอบ 1.00-1.25% มาอยู่ที่กรอบ 0.00-0.25% พร้อมทั้งเข้าซื้อสินทรัพย์ (Quantitative Easing: QE) มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม ดังที่สรุปในตารางที่ 1 โดยมีสาเหตุจาก
1) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงขึ้น จากผลกระทบของ COVID-19 และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยนับตั้งแต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งก่อนหน้า สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มขึ้นกว่า 3,600 พันคน (ตั้งแต่ 3 ถึง 15 มีนาคม 2020) ซึ่งเหตุการณ์ข้างต้นสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างมาก ซึ่งนาย Powell ได้กล่าวในงานแถลงข่าวหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า “ภาคท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง” ผนวกกับ “การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ” นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ และทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 2% ในปีนี้ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.7% และอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์โดยตลาดการเงินลดลงค่อนข้างมาก ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์จากผลสำรวจของผู้บริโภคแม้จะปรับสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ (รูปที่ 1)
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg
2) ภาวะการเงินยังคงตึงตัวขึ้นแม้ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยหลังจากที่ Fed ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินในการประชุมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2020 จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2020 ก่อนการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (S&P500) ปรับลดลง 9.7% ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นราว 1.6% ผนวกกับราคาน้ำมันดิบ (Brent) ที่ปรับลดลง 35% ส่งผลให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (default risk) ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ สูงขึ้น อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (high-yield corporate bonds) ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2016 (รูปที่ 2) ปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นนี้สะท้อนว่าภาวะการเงินสหรัฐฯ ปรับตึงตัวขึ้นแม้ว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยไปแล้วในการประชุมครั้งก่อน
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg
ตารางที่ 1 : มาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed ในรอบประชุมวันที่ 16 มีนาคม 2020
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Federal reserve
นอกจากนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศต่างตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยของ Fed ดังนี้
• ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม BOJ ได้มีการประชุมรอบฉุกเฉิน ก่อนรอบการประชุมที่กำหนดไว้เดิมในวันที่ 18-19 มีนาคม โดย BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ได้ออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม ได้แก่ 1) ปรับเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรอีก 2 ล้านล้านเยน โดยแบ่งเป็นตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นและหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวอย่างละ 1 ล้านล้านเยน ทำให้ขีดจำกัดในการเข้าซื้อพันธบัตรอยู่ที่ 3.2 และ 4.2 ล้านล้านเยนตามลำดับ 2) ปรับเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETFs และ J-REITs ต่อปีเป็น 12 ล้านล้านเยนและ 1.8 แสนล้านเยนตามลำดับ (จากเดิมที่ 6 ล้านล้านเยนและ 9 หมื่นล้านเยนตามลำดับ) และ 3) ดำเนินโครงการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับธนาคารพาณิชย์เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยใช้หุ้นกู้ภาคเอกชนเป็นหลักประกัน ซึ่งจะดำเนินการจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2020
• ธนาคารกลางเกาหลี (BOK) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในรอบการประชุมพิเศษเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งเป็นการจัดประชุมฉุกเฉินครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 bps เป็น 0.75% จากเดิมที่ 1.25% จากความกังวลผลกระทบของไวรัส COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลก
Implication
EIC คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 2020 จะเติบโตเหลือเพียง 0.3% เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าคาดการณ์เดิม โดยการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใน 2 ช่องทางต่อไปนี้รุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ได้แก่ 1) ช่องทางความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว (รูปที่ 3) ทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในสหรัฐฯ วิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชะลอกิจกรรมการใช้จ่ายในภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม บันเทิงและร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งการบริโภคภาคครัวเรือนมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ 2) ช่องทางการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruptions) มีความรุนแรงกว่าที่คาด สะท้อนจากผลสำรวจของ ISM ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ที่รายงานว่ามีจำนวนบริษัทราว 75% ของทั้งหมดกำลังเผชิญกับปัญหา supply chain disruption จากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ จำนวนบริษัทกว่า 80% ของทั้งหมดคาดว่าองค์กรของตนจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในอนาคตอันใกล้ จากผลกระทบดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ technical recession ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจได้รับแรงหนุนจากการมาตรการชดเชยความเสียหายจากทางภาครัฐ เช่น การขยายประกันการว่างงานเพื่อให้ครอบคลุมค่าแรงที่หายไป การปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการจ่ายเงินสวัสดิการเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีมูลค่าราว 1-2% ของ GDP สหรัฐฯ
ทั้งนี้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 0.3% อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสที่ 2 หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถควบคุมสถานการณ์โรคระบาดภายในประเทศได้ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้หากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ ยืดเยื้อมากกว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอลงมากกว่าที่ EIC ได้ประเมินไว้
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ WHO (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2020)
EIC คาด กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 25 bps ภายในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม 2020 นี้ และอาจมีมาตรการด้านอื่นๆ ประกอบ ด้วยการชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้เดิม และความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาวการณ์ระบาดของ COVID-19 ในไทยล่าสุดที่เริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ EIC มองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่เศรษฐกิจไทยปี 2020 อาจหดตัวมากกว่าที่เคยคาดในกรณีฐาน (base case scenario: -0.3% YOY) และมีโอกาสเข้าใกล้กรณีเลวร้ายมากขึ้น (worse case scenario: -2.0% YOY ตารางที่ 2) อีกทั้ง นอกจาก Fed แล้ว ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ EIC มองว่า กนง. มีความจำเป็นที่ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 25 bps ภายในการประชุมวันที่ 25 มีนาคม 2020 นี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมตลาดในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง และเพื่อการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้
โดยนอกจากนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยแล้ว กนง. น่าจะใช้นโยบายอื่นประกอบเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ตัวอย่างเช่น
• Forward guidance : EIC คาดว่า กนง. น่าจะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ชัดเจนขึ้น เพื่อปรับมุมมองและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนและนักลงทุน โดยอาจมีการเน้นย้ำถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากต่อเนื่อง และจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น หรืออาจสื่อสารถึงเงื่อนไขที่จะทำให้ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะต่อไป เช่น ต้องเห็นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญ หรือ เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
• การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loan) : ในช่วงที่ภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้นอย่างมากจากทั้งความผันผวนในตลาดทุน/ตลาดพันธบัตรที่ปรับสูงขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปรับชะลอลง รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ EIC มองว่า ธปท. อาจดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเฉพาะจุด โดยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหารุนแรงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถดำเนินได้ ทั้งนี้พบว่าในอดีตที่ผ่านมา ธปท. ได้เคยดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาแล้ว โดยในช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วมปลายปี 2011 รัฐบาลได้มีการออก พรก. อนุญาตให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ที่ 0.01% ต่อปี) แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมโดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี ซึ่งมาตรการในลักษณะนี้เป็นการช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินที่ตึงตัวเฉพาะจุดได้ดี (targeted measure)
นอกจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว EIC เชื่อว่าการผ่อนคลายนโยบายการคลังเพิ่มเติมน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
ทั้งนี้อีกประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ภาวะสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ และความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ที่ปรับสูงขึ้น
• ความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ไทย : ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงมากและความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ corporate spread โดยเฉพาะของกลุ่ม BBB ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย (รูปที่ 4) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจไทยที่ระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตร เนื่องจาก ต้นทุนในการต่ออายุพันธบัตรจะสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถต่ออายุพันธบัตร (roll-over risk) และความเสี่ยงในการชำระหนี้ (default risk) ปรับสูงขึ้น นอกจากนั้น ข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทยยังบ่งชี้ว่า ณ วันที่ 13 มีนาคม 2020 หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (non-investment grade: ต่ำกว่า BBB- ) และกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนการออกพันธบัตรประเภทดังกล่าวมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (9.6 หมื่นล้านบาท) 2) ภาคบริการ (1.8 หมื่นล้านบาท) และ 3) ภาคการเงิน (1.0 หมื่นล้านบาท) (รูปที่ 5)
• ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ : โดยในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนและมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีสภาพคล่องสูง มักพบว่าความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ ในบางประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ เช่น ที่เกิดขึ้นใน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน สำหรับไทยนั้น ถึงแม้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังมีขนาดใหญ่ ทำให้ความเสี่ยงต่อไทยในขณะนี้อาจไม่น่ากังวลมากนัก แต่ EIC มองว่าจะต้องจับตามองในประเด็นนี้ต่อไป เนื่องจาก ในภาวะที่ COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรง ทำให้ดุลบริการของไทยอาจปรับลดลงเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐภายในไทยได้
ตารางที่ 2 : ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 ในกรณีต่างๆ (Scenario Analysis)
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ThaiBMA
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ThaiBMA
โดย : ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ([email protected]) ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น ([email protected]) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
พงศกร ศรีสกาวกุล ([email protected]) นักวิเคราะห์
ชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ ([email protected]) นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line: @scbeic
AO3370
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web