WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Stock

ADB คาดโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยสูญเสียราว 1.11% ของ GDP ภายใต้สถานการณ์รุนแรงระดับปานกลาง

    ADB คาดโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยสูญเสียราว 1.11% ของ GDP ภายใต้สถานการณ์รุนแรงระดับปานกลาง

   ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ ' The Economic Impact of the COVID-19 Outbreak on Developing Asia' โดยระบุว่าการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียผ่านหลายช่องทาง ซึ่งรวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศและธุรกิจการท่องเที่ยวลดต่ำลง การค้าและห่วงโซ่การผลิตชะงักงัน และผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชากร แต่ขนาดความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นกับว่าการระบาดดังกล่าวจะพัฒนาไปอย่างไร ยังคงอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอนสูง

    ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ได้สำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจและพบว่าระดับความสูญเสียจะมีมูลค่าเริ่มตั้งแต่ 77 พันล้านเหรียญสหรัฐ จนถึง 347 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.1-0.4% ของ GDP โลก ในส่วนของไทยนั้น สถานการณ์รุนแรงในระดับปานกลาง คาดว่าจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.11% ของ GDP ไทย

   ADB คาดโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยสูญเสียราว 1.11% ของ GDP ภายใต้สถานการณ์รุนแรงระดับปานกลาง

    ในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงในระดับปานกลาง (moderate scenario) ซึ่งหมายถึงมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันหรือการคุมเข้มต่างๆ เช่น การห้ามเดินทาง 3 เดือนหลังเกิดการระบาดตั้งแต่ปลายเดือน ..ที่ผ่านมา ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 156 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.2% ของ GDP โลก โดยความสูญเสียทางเศรษฐกิจของจีนจะอยู่ที่ 103 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.8% ของ GDP จีน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชียคาดว่าจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมกันมูลค่า 22 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.2% ของ GDP รวมของประเทศเหล่านั้น ส่วนของไทยนั้น ในสถานการณ์รุนแรงในระดับปานกลาง คาดว่าจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.11% ของ GDP ไทย

    ทั้งนี้ เอดีบีได้ตอบสนองอย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเมื่อวันที่ 7 ..ที่ผ่านมา เอดีบีได้จัดสรรเงินทุนจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับปรุงการคัดกรองเชื้อและการป้องกันไว้รัส รวมทั้งการรับมือกับการแพร่ระบาดให้กับจีนและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอดีบีได้จัดสรรเงินทุนอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนทุกประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาในการรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว

   นอกจากนั้น เอดีบียังได้จัดสรรเงินกู้ภาคเอกชนมูลค่า 18.6 ล้านเหรียญสหร้ฐ เมื่อวันที่ 25 ..ที่ผ่านมา แก่บริษัท Jointown Pharmaceutical Group ซึ่งเป็นบริษัทจัดจำหน่ายยาในเมืองอู่ฮันของจีน เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสและยาที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง

    เอดีบี พร้อมที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาในการรับมือผลกระทบจาก COVID-19 ต่อไป โดยจะใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการตอบสนองความต้องการในการรับมือปัญหาผ่านความช่วยเหลือทางการเงินใหม่หรือที่มีอยู่แล้ว การให้กู้แบบฉุกเฉินและการให้กู้เชิงนโยบาย การลงทุนภาคเอกชน และความช่วยเหลือทางวิชาการและองค์ความรู้ต่างๆ พร้อมทั้งมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป

   เอดีบี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค

 

TDRI หวั่น GDP ไทยปี 63 โตต่ำกว่า 2% มอง Q1/63 เสี่ยงติดลบรับผลกระทบโควิด-19

       นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/63 มีโอกาสติดลบ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวไทยที่คาดว่าหดตัวถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปีอาจจะหดตัว 8-10% ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวไทยคิดเป็นสัดส่วน 12% ของผลผลืตมวลรวมในประเทศ (GDP)

    นอกจากนั้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คาดว่าภาคส่งออกของไทยในปีนี้จะติดลบ 1-2% ซึ่งปัจจุบันรายได้จากภาคส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 65% ของ GDP ประเทศ

      สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 นั้น TDRI อยู่ระหว่างติดตามว่าจะพลิกเป็นบวกได้หรือไม่ แต่คาดหวังว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ และประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 น่าจะผ่อนคลายลง

       นอกจากนี้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ คาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินลงไป 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

      "ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเหนื่อยแน่นอน GDP ไตรมาสแรกมีโอกาสสูงมากที่จะติดลบ แต่ไตรมาส 2 ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะฟื้นได้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่าเห็นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเป็นปกติอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่วันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตช้า แนวโน้มดอกเบี้ยทรงตัวระดับต่ำต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง ดังนั้นอาจต้องระมัดระวัง Search for Yield นักลงทุนโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นภายใต้ยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้"นางสาวกิริฎา กล่าว

 

ประธาน FETCO หวัง GDP ไทย Q2/63 รอดติดลบ ลุ้นมาตรการกระตุ้นรัฐแสนลบ.อัดฉีดได้ก่อนสิ้น มิ.ย.

       นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สนับสนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้เพื่อเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเสนอแพ็คเกจมาตรการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพราะปัจจุบันธุรกิจเอกชนหลายภาคส่วนต้องชะงัก ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นผู้นำในการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค

     แม้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส1/63 อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นติดลบ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้เร่งอัดเงินเข้าสู่ระบบและเกิดผลได้ไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย.63 เป็นส่วนช่วยผลักดันความเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้น เพื่อให้ GDP ในไตรมาส 2/63 จะสามารถกลับมาเติบโตเป็นบวกได้เล็กน้อย

     นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับกรณีกระทรวงการคลังมีแนวทางปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาใกล้เคียงกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) คาดว่ามาตรการนี้อาจเข้ามาใช้ชั่วคราวเพื่อประคับประคองตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ หลังจากบอบช้ำอย่างหนักจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ตลาดหุ้นไทยมีเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้ามาสนับสนุน

    อย่างไรก็ตาม หากปรับเกณฑ์ SSF เพิ่มเงื่อนไขวงเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยชัดเจนเหมือนกับ LTF เชื่อว่ามีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยได้ในช่วงสั้น

     สำหรับ นโยบายการเงินนั้น เชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ อาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง แต่ไม่ถึงขั้นปรับลดเท่ากับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก่อนหน้านี้ลดลงไป 0.50% เพราะเชื่อว่า กนง.คงอยากให้เก็บกระสุนเอาไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถรองรับกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบได้เหมือนกับเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป

      "ภาพรวมตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ลุกลามไปมากกว่าปัจจุบัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเกิดผลได้ทันในไตรมาส 2/63 มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดรอบนี้ไปแล้ว"นายไพบูลย์ กล่าว

 

นักเศรษฐศาสตร์ เห็นพ้อง'คลัง-แบงก์ชาติ'เหลือกระสุนเพียงพอปลุกเศรษฐกิจไทย หวังพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19

    เป็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาล ล่าสุด (6 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) คลอดมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ประกอบด้วย ผู้ประกอบการจะมีมาตรการการเงิน และมาตรการภาษี ขณะที่ความช่วยเหลือที่ให้กับประชาชนจะมีการแจกเงินใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 2 พันบาท รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น รวมทั้งมาตรการด้านตลาดทุน

      แม้ว่ารัฐบาลเริ่มทยอยใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และรอลุ้นกับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ดูแลฝั่งนโยบายการเงินว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจไทยหลายฝ่ายกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็มีหลายคำถามเกิดขึ้นเช่นกันว่ายามเศรษฐกิจชะลอเช่นนี้ นโยบายการคลังและการเงินจะเหลือกระสุนเพียงพอหรือไม่หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อมากไปกว่าที่คาดไว้

       นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของประเทศยังมีพื้นที่เพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ โดยนโยบายการเงิน คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 มี.ค.นี้น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดดอกเบี้ยอาจมีส่วนช่วยได้บ้าง แต่มองว่าอาจไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพราะประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่มองว่านโยบายการคลังจะสร้างผลเชิงบวกให้กับระบบเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น รัฐบาลเป็นผู้นำในการใช้จ่าย อันดับสองใช้มาตรการภาษี และอันดับสามให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ประสบปัญหาหรือมีรายได้น้อย ซึ่งไม่ได้เป็นภาระกับฐานะการคลัง เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ระดับ 41% ยังต่ำกว่าเพดานกรอบวินัยการคลังที่อยู่ระดับ 60% และการขาดดุลของไทยที่ผ่านมายังไม่สูงอยู่ระดับ 2-3% ของ GDP ประเทศ

      "วันนี้นโยบายการคลังมีข่องว่างที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เงินลงทุนภาครัฐ เช่น เงินลงทุน ,ประกันราคาสินค้าเกษตร หรือแจกเงินให้กับประชาชนเพิ่มกำลังซื้อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว"นางสาวกิริฎา กล่าว

     นางสาวกิริฎา กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะยากลำบาก จากกระทบไวรัสโควิด-19 ลุกลามไปหลายภาคส่วนเศรษฐกิจ ฉุดให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกโดนกระทบค่อนข้างรุนแรง มีโอกาสถึงขั้นติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าหากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ก็มีโอกาสเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

    ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ไม่เกิน 2% เนื่องจากประเมินว่าภาคส่งออกของไทยปีนี้จะติดลบ 1-2% ซึ่งปัจจุบันรายได้จากภาคส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 65% ของ GDP ประเทศ ส่วนผลกระทบเกิดกับภาคท่องเที่ยวไทยคาดว่าทั้งปีอาจจะหดตัว 8-10% ซึ่งปัจจุบันรายได้จากการท่องเที่ยวไทยคิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP ประเทศ

     นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าฤดูเพาะปลูกข้าวนาปีเริ่มเก็บเกี่ยวได้ช่วง พ.ค.แต่หากปัญหาภัยแล้งลากยาวเกินกว่านั้นก็จะยิ่งสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคกำลังซื้อ เพราะเกษตรกรเป็นฐานผู้บริโภคใหญ่ของประเทศจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน

     "ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเหนื่อยแน่นอน GDP ไตรมาสแรกมีโอกาสสูงมากที่จะติดลบ แต่ไตรมาส 2 ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะฟื้นได้หรือไม่ ตอนนี้ทุกฝ่ายคาดหวังว่าเห็นเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเป็นปกติอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่วันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกำลังเติบโตช้า แนวโน้มดอกเบี้ยทรงตัวระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น อาจต้องระมัดระวัง Search for Yield นักลงทุนโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นภายใต้ยุคดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้"นางสาวกิริฎา กล่าว

      นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังมีกระสุนเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์ช่วงนี้ที่กำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะนโยบายการคลังมีช่องว่างค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น สัดส่วนหนี้สาธารณะ 41% ยังอยู่ในกรอบวินัยทางการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศสูง

      อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย.63 ธนาคารโลกเตรียมปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 จากเดิมคาดโต 2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2 เห็นผลกระทบชัดเจนจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คาดว่าไตรมาส 1/63 มีโอกาสหดตัวมากกว่า 50% และอุตสาหกรรมส่งออกก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 65% ของ GDP ประเทศ เพราะจีนเป็นประเทศหลักที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมทั่วโลกและภูมิภาคเอเชีย

      "คิดว่าช่วงนี้ไทยควรใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ รับมือกับภาวะการชะลอตัวจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 เพราะมองว่าช่วยให้เงินเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้นโยบายการเงิน ซึ่งมองว่าไทยใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และทรงตัวต่ำมานานแล้ว ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่ระยะสั้นการใช้นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพกับเศรษฐกิจมากที่สุด"

     ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สนับสนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้เพื่อเยียวยาผลกระทบไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมออกมาตรการเป็นแพ็คเกจใช้เงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพราะปัจจุบันธุรกิจเอกชนหลายภาคส่วนต้องชะงัก ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นผู้นำในการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค

       นอกจากนี้ เห็นด้วยกับกรณีกระทรวงการคลังมีแนวทางปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาใกล้เคียงกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) คาดว่ามาตรการนี้อาจเข้ามาใช้ชั่วคราวเพื่อประคับประคองตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ หลังจากบอบช้ำอย่างหนักจากความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ตลาดหุ้นไทยมีเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้ามาสนับสนุน

     อย่างไรก็ตาม หากปรับเกณฑ์ SSF เพิ่มเงื่อนไขวงเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยชัดเจนเหมือนกับ LTF เชื่อว่ามีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าในตลาดหุ้นไทยได้ในช่วงสั้น

     สำหรับ นโยบายการเงินนั้น เชื่อว่า กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. แต่ไม่ถึงขั้นปรับลดเท่ากับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก่อนหน้านี้ลดลงไป 0.50% เพราะเชื่อว่า กนง.คงอยากให้เก็บกระสุนเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็ไม่สามารถรองรับกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบได้เหมือนกับเศรษฐกิจในฝั่งยุโรป

    แม้ว่าแนวโน้ม GDP ในไตรมาส 1/63 อาจมีความเสี่ยงถึงขั้นติดลบ แต่อยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้เร่งอัดเงินเข้าสู่ระบบและเกิดผลได้ไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย.63 ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยผลักดันความเชื่อมั่นนักลงทุนให้ดีขึ้น เพื่อให้ GDP ในไตรมาส 2/63 กลับมาเติบโตเป็นบวกได้เล็กน้อย

    "ภาพรวมตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ลุกลามไปมากกว่าปัจจุบัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเกิดผลได้ทันในไตรมาส 2/63 มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดรอบนี้ไปแล้ว"นายไพบูลย์ กล่าว

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!