WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CIMBTปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโต 1.50%-แนะเอกชนไทยเบนเข็มลงทุนกลุ่ม AEC เป็นทางรอด ช่วงที่ ศก.โตชะลอ 

    สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ห่วงเศรษฐกิจไทยสะสมปัญหาเรื้อรังลงลึกถึงโครงสร้าง มองเศรษฐกิจโตช้า แต่ยังไม่ถึงทางตัน เผยเบนเข็มลงทุน ค้าขาย ท่องเที่ยวไปกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นทางรอด ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโต 1.50% ปีหน้าโต 3% พร้อมประเมิน กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 2%จนถึงสิ้นปีนี้

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงทางตัน แต่เติบโตได้ช้าลงกว่าในอดีต เป็นผลจากปัญหาสะสม ทั้งหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวเร็ว รายได้ภาคการเกษตรตกต่ำ การบริโภคการเอกชนอ่อนแอ อีกทั้งการลงทุนเพื่อตอบโจทย์การบริโภคในประเทศก็ลดลง ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่หมดลง ขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ฉุดให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเติบโตช้า อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ แต่ต้องใช้เวลา

    “แม้เศรษฐกิจจะโตช้า แต่จะไม่เข้าขั้นวิกฤต หากปัญหาการเมืองได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ แม้ปัญหาการเมือง เป็นปัญหาชั่วคราว แต่หากยืดเยื้อจะกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับปัญหาการเมืองไทย อย่างไรก็ดี หากปัญหาในประเทศสงบ เศรษฐกิจอาจไม่มีกำลังพอที่จะเร่งตัวได้แรง เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยขยายวงกว้างขึ้น ไม่เพียงด้านความเชื่อมั่น แต่ลงลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น หนี้ครัวเรือนที่สูง โครงสร้างสินค้าส่งออกที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกลดลง จากเดิมที่คาดว่าปัญหาการเมืองจะยุติช่วงกลางปี และไทยจะมีรัฐบาลได้ในไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะส่งผลดีต่อภาคบริการช่วงครึ่งหลังของปีนายอมรเทพ กล่าว  

    อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ใช้เวลาสักระยะ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคและนักลงทุนไทยปรับตัวในการเร่งชำระหนี้ และเพิ่มการลงทุนในด้านเทคโนโลยี เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง โดยปัจจัยภาครัฐจะเป็นตัวเสริมให้เศรษฐกิจเร่งตัวขึ้นได้ เมื่อมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพียงแต่เศรษฐกิจในปีหน้าอาจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่เรามีหรือที่ทำได้ในอดีต

    นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อความต้องการภายในประเทศอ่อนแอ หรือเข้าขั้นถดถอย ความหวังจึงไปอยู่ที่ภาคการส่งออก ว่าจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัญหาทางการเมือง แต่การเติบโตของการส่งออกกลับติดลบในไตรมาสแรก ทั้งๆ ที่ภาคการส่งออกสินค้า ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองมากนัก อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก็เติบโตได้ดี นั่นเป็นเพราะปัญหาการส่งออกเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผู้ผลิตไทยยังอาศัยเทคโนโลยีไม่สูงมาก ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ อีกทั้งความต้องการของสินค้าหลายประเภทในตลาดโลกก็ลดลง เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive (HDD) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภคต่างๆ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อน สหรัฐฯฟื้นตัวด้วยภาคการผลิต โรงงานต่างๆ มีความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำ เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่สูงได้กดให้ค่าจ้างเติบโตได้ไม่มากนัก ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคไม่สูงขึ้น และความต้องการสินค้าทุนของสหรัฐฯก็ เปลี่ยนไป ขณะที่ไทยไม่สามารถผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง หรือไม่ได้อยู่ในวงจรการผลิตของโลก (Global supply chain)

     อย่างไรก็ดี การส่งออกสุทธิที่เติบโตได้ดีมาจากการนำเข้าที่หดตัวตามการผลิตและการบริโภคที่ลดลง อันดูเหมือนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่แท้จริงไม่ได้ช่วยด้านการบริโภคและการลงทุนเลย เป็นเพียงการเติบโตทางเทคนิคเท่านั้น

    ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เมื่อภาคอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ ภาคการส่งออกขยายตัวได้ไม่มาก จากเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา การลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นโอกาสและทางรอดสำหรับนักลงทุนในการรับมือกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงในปีหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV โดยอาศัย CLMV เป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาด รวมทั้งแรงงานที่สำคัญ อีกทั้งอาศัยการเติบโตของคนชั้นกลางใน CLMV เพื่อขายสินค้าประเภท HDD/Consumer electronics ที่เดิมไทยผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น

   สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ฯและธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงมานั้น ทางสำนักวิจัยฯได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 1.50% ในปี 2557 จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่การส่งออกแม้เติบโตได้ แต่ก็ไม่อาจเร่งตัวได้แรง ส่วนการนำเข้าโตเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้การส่งออกสุทธิเร่งตัว ซึ่งภาคต่างประเทศที่เติบโตได้เช่นนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นเพียงการเติบโตทางเทคนิคเท่านั้น

    ด้านอัตราดอกเบี้ย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00% ตลอดทั้งปี แม้เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลง จากการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากราคาอาหาร และจากเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่า และคาดว่าดอกเบี้ยจะขยับขึ้นได้ในปีหน้าหลังมีแรงกดดันจากเงินไหลออก ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

    สำหรับ ทิศทางค่าเงินบาท จากภาวะเงินทุนไหลออกที่จะเร่งตัวขึ้น ค่าเงินบาทจึงมีทิศทางอ่อนค่าลงได้ โดยสำนักวิจัยคาดว่าเงินบาทจะไปแตะระดับ 33.00 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในปลายเดือนมิถุนายน โดยจะอ่อนค่ามากขึ้นในช่วงปลายปีหากมีการเปลี่ยนมุมมองต่อความเชื่อมั่นในประเทศ

    สำหรับ ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 สำนักวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัว โดยประมาณการเติบโตเศรษฐกิจทั้งปี 2558 ไว้ที่ 3% แม้จะเห็นการฟื้นตัว แต่นับเป็นการเติบโตที่ช้าและต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยเคยทำไว้ในอดีต

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!