- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 20 May 2014 21:54
- Hits: 4041
SCB EIC : GDP ไตรมาส 1 ปี 2014 หดตัวลง 0.6% จากอุปสงค์ภายในประเทศ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง GDP ไตรมาส 1 ปี 2014 หดตัวลง 0.6% จากอุปสงค์ภายในประเทศ
Event สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2014 ลดลง 0.6%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) จากที่ขยายตัว 0.6%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า Analysis การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงลดลงต่อเนื่องการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 2014 ลดลง 3.0%YOY โดยเป็นผลจากการใช้จ่ายสินค้าในหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งที่ลดลงจากไตรมาสแรกของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการส่งมอบรถยนต์ตามนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกอยู่ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลง 7.3%YOY ตามการลงทุนในด้านการก่อสร้างที่หดตัว 7.8%YOY และการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ยังหดตัว 7.2%YOY เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่จำเป็นต้องเร่งขยายกำลังการผลิตภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอจากการส่งออกที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า และผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง
การลงทุนภาครัฐหดตัวลงมากกว่าที่คาดหลังจากที่ได้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 1 แสนล้านบาทไปในไตรมาสก่อนหน้า การเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2014 ก็กลับชะลอลงทั้งในส่วนของการลงทุนในด้านการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือ ซึ่งหดตัว 17.1%YOY และ 23.4%YOY ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากรัฐวิสาหกิจที่มีการลงทุนลดลงราว 40%YOY ทั้งในด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือ
รายรับจากนักท่องเที่ยวหดตัวลงครั้งแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยการส่งออกภาคบริการในไตรมาส 1 หดตัว 4.2%YOY ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาลจีน และจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย การส่งออกสุทธิช่วยพยุงตัวเลข GDP แม้การส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้เพียง 0.8%YOY ตามการส่งออกไปจีนและอาเซียนที่ชะลอลง แต่การนำเข้าสินค้าที่ลดลงถึง 12.0%YOY จากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรง ทำให้การส่งออกสินค้าสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 96.1%YOY และช่วยพยุงตัวเลข GDP ให้หดตัวเพียง 0.6%YOY
Implication อีไอซียังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1.6% ในปี 2014ภาพเศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่ออกมา ใกล้เคียงกับมุมมองของอีไอซีที่คาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะอ่อนแอต่อเนื่องจากการที่ครัวเรือนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น อย่างไรก็ดี ตัวเลขการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงมากและทำให้การลงทุนภาครัฐต่ำกว่าที่ประเมินไว้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม
โดย : ดร. พชรพจน์ นันทรามาศ ([email protected])
เกษมสุข ทักษาดิพงศ์ ([email protected])
SCB Economic Intelligence Center (EIC)