- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 07 October 2014 00:13
- Hits: 3079
อีโค+โฟกัส : วัดฝีมือรัฐบาล อัดฉีด 3 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ..เปรี้ยงหรือแป้ก?
ไทยโพสต์ : ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 หรือไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน 2557 (ต.ค.-ธ.ค.57) ที่หลักๆ จะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการสร้างงาน ผ่านการอัดฉีดงบประมาณภาครัฐ เพื่อให้เกิดการก่อสร้างในโครงการขนาดเล็กเป็นหลัก
"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ต้องเน้นไปที่ฐานรากเป็นหลัก ด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย และต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม โดยในช่วงนี้ภาครัฐมีความเป็นห่วงภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ชาวนากว่า 3.4 ล้านครัวเรือนกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ อยู่ที่ตันละ 8 พันบาทเท่านั้น ซึ่งราคาข้าวในตลาดในระดับดังกล่าว ยังเป็นที่พอใจของรัฐบาล นั่นเพราะจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวนาให้ได้รับความเดือดร้อน
โดยหนึ่งในมาตรการที่ออกมาเพื่อรองรับชาวนาได้แก่ "มาตรการเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย" โดยเน้นช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน ที่เปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. โดยจะใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะช่วยค่าต้นทุนการผลิตไร่ละ 1 พันบาทต่อครอบครัว สำหรับชาวนาที่มีที่ดินตั้งแต่ 0-15 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้ประเมินว่าจะมีชาวนารายย่อยที่ได้รับประโยชน์ราว 1.85 ล้านครอบครัว ขณะที่ชาวนาที่มีที่ดินตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิตครอบครัวละ 1.5 หมื่นบาท จะมีชาวนาได้ประโยชน์ 1.6 ล้านครอบครัว
การดำเนินงานในส่วนนี้จะใช้เม็ดเงินสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ซึ่งเท่าที่ได้หารือในเบื้องต้นธนาคารเต็มใจทำมากกว่าโครงการรับจำนำข้าวที่มีผลขาดทุน 2.5 แสนล้านบาทต่อปี
ภายหลังจากมาตรการดังกล่าวออกมา มีกระแสตอบรับทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยเรื่องนี้ "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" อดีต รมว.การคลัง ออกมาให้ความเห็นว่า "ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรบ้างแล้ว โดยข้อดีของมาตรการคือ ชาวนาจะได้รับเงินในทันที และเงินนี้จะหมุนเวียนในภาคชนบท รวมถึงรัฐบาลจะไม่มีปัญหาการเก็บสต็อกสินค้า ไม่มีของเน่าเสีย และไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด"
"ธีระชัย" ยังตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกรายนั้น มีข้อเสียตรงที่เกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งมีกำลังการผลิตที่จะลดต้นทุนได้เองจากเนื้อที่การเพาะปลูกขนาดใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรมีการยุติการจ่ายเงินช่วยเหลือสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินเกินกว่า 50 ไร่
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการอีก 4-5 มาตรการออกมา ด้วยการดึงเงินงบประมาณภาครัฐทั้งในปีงบประมาณ 2557 งบเหลื่อมปี ตั้งแต่ปี 2548-2556 และงบไทยเข้มแข็งที่ยังค้างท่ออยู่ เบ็ดเสร็จรวมแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เน้นขนาดเล็กเป็นหลัก เช่น การซ่อมแซมอาคารเรียน การสร้างอาคารเรียน บ้านพักข้าราชการครู เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเห็นว่าจะช่วยให้เกิดการสร้างงานได้เป็นอย่างดี
แม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จะออกมายืนยันชัดเจนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนที่ออกมาครั้งนี้ ไม่ใช่โครงการประชานิยม เพราะหลักการบริหารจัดการแตกต่างกัน ด้วยการดำเนินการที่ไม่หวังผลทางคะแนนเสียง แต่วัตถุประสงค์หลักคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่มีปัญหา เป็นภาระ โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่ราคาผลผลิตตกต่ำ แทนการพึ่งพาการส่งออกที่กลายเป็นปัญหา และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ติดลบอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนที่เหลือจากนี้ คงต้องหวังพึ่งพาการอัดฉีดงบประมาณจากภาครัฐ ไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนแทน
แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายมองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ยังไม่ต่างอะไรกับ "โครงการประชานิยม" ที่หลายๆ รัฐบาลเคยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น จนกลายมาเป็นข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นบนช่องโหว่ของความไม่เสมอภาคในการให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อ "สุพัฒน์ ประชาชาติรักษ์" ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ออกอาการงุนงงต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมา เพราะก่อนหน้านี้การหารือเรื่องการแก้ปัญหาชาวนา มีเพียงการปรับเปลี่ยนอาชีพการปลูกข้าวมาเป็นพืชชนิดอื่นและเกษตรกรรมทางเลือกแทน ไม่ได้มีเรื่องการแจกเงินชาวนา
สวนทางกับความรู้สึกของชาวนาที่ได้รับทราบข่าวดีนี้ โดยชาวนาที่จังหวัดพิจิตร ออกมาขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนการให้ความช่วยเหลือชาวนา "เป็นเรื่องที่ดี แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังมองว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลน่าจะมีความเสมอภาคระหว่างคนมีนาไม่เกิน 15 ไร่ กับมากกว่า 15 ไร่ คือจ่ายไร่ละพันบาทไปเลย เพราะคนที่มีนามากกว่า 15 ไร่ ต้องใช้ทุนทำนามากขึ้นเช่นกัน" ชาวนาระบุพร้อมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางการผลักดัน หรือพยุงราคาข้าวให้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าว จากปัจจุบันอยู่ที่ 6-7 พันบาทต่อตัน เป็นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน เพื่อไม่ให้เกิดผลขาดทุนจากการทำนา เพราะมองว่าหากราคาข้าวมีการขยับตัวสูงขึ้นจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการตลาดทั้งในชุมชนและประเทศ
ขณะที่ "ทนง พิทยะ" อดีต รมว.การคลัง ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลว่า "เห็นว่ามาตรการครั้งนี้ไม่ได้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากนัก เพราะปัจจัยหลักสำคัญที่เคยช่วยผลักดันอย่างการส่งออก ยังมีแนวโน้มขยายตัวลดลง รัฐบาลควรหาวิธีการเพิ่มความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยให้มากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการหลายรายต้องประสบปัญหาล้มละลายจากค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันไปก่อนหน้านี้
"มาตรการจ่ายเงินอุดหนุนให้ชาวนาไร่ละ 1 พันบาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่นั้น ส่วนตัวมีความเป็นห่วงชาวนาทางภาคอีสานมากกว่า เนื่องจากมีปัจจัยการผลิตที่ไม่เอื้อเหมือนภาคกลางที่สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง ส่วนนโยบายต่างๆ ที่ออกมาจะเป็นประชานิยมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลมากกว่า" ทนงระบุไม่เพียงแต่ประชาชนในประเทศที่จับตาและให้ความคาดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะฟากรัฐบาล โดย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ก็หวังผลความสำเร็จกับมาตรการที่ออกมาครั้งนี้ไม่แพ้กันว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพราะวิธีการดำเนินงานของรัฐบาลครั้งนี้ ดำเนินการไปตามหลักการอยู่แล้ว และเป็นการแก้ปัญหาในแนวเศรษฐกิจโลกที่เขาทำกัน โดยต้องให้การดูแลประชาชนทุกคน
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ที่จะขยายตัวไม่ได้ตามเป้า 2% ที่คาดการณ์ไว้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับ เพราะที่ผ่านมาปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยถูกสะสมมานาน และโดนกดดันด้วยปัญหาการเมือง การเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามคาด แต่ก็น่าจะช่วยให้เห็นแสงสว่างว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ตามศักยภาพในระยะยาว
ดังนั้น ไม่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเน้นเจาะให้เกิดการสร้างงานนี้ จะดันให้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก แต่ประเด็นกลับพุ่งไปที่ว่า การอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณเข้าระบบเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินเพื่อการอุปโภคบริโภคได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทันทีที่เกิดการใช้จ่าย นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน มีการหมุนเงินแลกมือกันไป รายได้กระจายเข้าถึงทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
การวัดความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละมาตรการด้วยตัวเลขจีดีพีอาจใช้ไม่ได้เสมอไป โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่พื้นฐานเศรษฐกิจแล้วยังมีความแข็งแกร่ง เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งอย่างมาก แต่ที่เศรษฐกิจเกิดสะดุดลงในช่วงนี้ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงบางประการเข้ามากระทบ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่เคยเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสียไป
โดยในครั้งนี้การวัดความสำเร็จจากความคาดหวังเกี่ยวกับความสำเร็จของมาตรการครั้งนี้ เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนรายใหญ่และรายย่อย ภาคอุตสาหกรรม การบริการและอื่นๆ โดยทุกส่วนยังยืนยันที่จะรอประเมินผลของมาตรการครั้งนี้อย่างใกล้ชิด แม้ในทางปฏิบัติจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ตัวเลขจีดีพีฟื้นคืนมาเติบโตได้อย่างที่คาดการณ์ แต่ในหลักการแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีศักยภาพในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็น่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอยู่บ้าง
หลังจากนี้คงต้องรอวัดผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่จากรัฐบาล ที่อยู่ระหว่างบูรณาการร่วมกันกับหลายๆ กระทรวง ทั้งการอัดฉีดผ่านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท การปฏิรูปโครงสร้างภาษี และการส่งเสริมภาคอุตสาห กรรมผ่านการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ล่าสุดกว่า 8 หมื่นล้านบาท
เชื่อว่าท้ายที่สุดเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีศักยภาพอีกครั้งในปี 2558