มาตรการกระตุ้น ของ ปรีดิยาธร เทวกุล ต้องให้'โอกาส'
มติชนรายวันฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2557
แม้จะกำหนดงบประมาณเอาไว้มากถึง 360,000 ล้านบาท ตามที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แถลงผ่านมาตรการ "กระตุ้น" เศรษฐกิจ
เรียกตามสำนวนของ เจมส์ แมคคอร์มิค แห่ง ฟิตช์ เรตติ้ง ก็ต้องว่า
เป็นเพียง "น้ำจิ้ม"
เรียกตามสำนวนจีนก็ต้องว่า เสมอเป็นเพียง "อิฐ" ล่อ "หยก" นั่นก็คือ อาศัยมาตรการ "กระตุ้น" ไม่เพียงเพื่ออัดฉีดเงินจากภาครัฐเข้าสู่ระบบ หากที่สำคัญ 1 ก็คือ เพิ่มการใช้จ่าย
เป็นการใช้จ่ายทั้ง "ภาครัฐ" และภาค "ประชาชน"
ทุกอย่างจะต้องดำเนินไปตามความห่วงใยอันมาจากฝ่ายเรตติ้งประเทศ ฟิตช์ เรตติ้ง กรุงลอนดอนตั้งข้อสังเกต จุดใหญ่อยู่ที่การผลักดันนโยบายพัฒนาประเทศให้เดินหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
เหมือนที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งเป้าอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท
ตรงนี้ต่างหากคือ "อาหารจานหลัก"
การนำเสนอในห้วง 1 เดือนแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงเสมอเป็นเพียง น้ำจิ้ม
เป็น "ปลาสร้อย" อันจะนำไปสู่ "ปลากะพง"
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ระยะเวลาแห่งการปูทางและสร้างเงื่อนไขอันนำมาสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นั้น
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ตี "กรอบ" ให้กับตัวเองหลายประการ
กล่าวเฉพาะนโยบายอันเกี่ยวกับข้าว 1 ไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำ 1 ไม่เห็นด้วยกับโครงการประกันราคา
จึงต้องออกมาในรูปของ "แจกเงิน"
ขณะเดียวกัน จึงต้องออกมาในรูปของการช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการผลิต ปัจจัยการผลิตของเกษตรกรทำนา
ขณะเดียวกัน ก็ไม่แตะโรงสี ไม่แตะผู้ส่งออก
ทั้งหมดอยู่บนหลักการที่จะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามที่ภาษาในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "กลไกตลาด"
ตรงนี้แหละที่จำเป็นต้องให้ "โอกาส"
เพราะเป้าหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระบวนการของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มิได้อยู่ที่เกษตรกรทำนาเพียงด้านเดียว ที่สำคัญเป็นอย่างมากยังอยู่ที่โรงสี ผู้ส่งออก และตลาดข้าวโดยองค์รวมอีกด้วย
ตรงนี้แหละยิ่งจำเป็นต้องให้ "โอกาส"
หากสำรวจมาตรการ "กระตุ้น" ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในแบบ "ขี่ม้าชมสวน" จากคำแถลงที่ยังมิได้ผ่านการลงมือปฏิบัติ
นี่ก็คือ เทคนิคอย่างหนึ่งของ เคนส์
เหมือนที่ในยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้สโลแกนว่า เงินผัน อันดำเนินไปตามวาทกรรมคลาสสิกอย่างยิ่งของเหล่าเคนเนเซี่ยนทั้งหลาย
1 จ้างคนขุด 1 จ้างคนกลบ
ผลก็คือ เงินก็ตกถึงมือคนขุด เงินก็ตกถึงมือของคนกลบ และเมื่อผ่านกระบวนการใช้สอย บทสรุปก็จะเป็นไปเหมือนเพลงโฆษณาธนาคารกรุงไทย
นั่นก็คือ เงินกำลังหมุนเวียน เงินกำลังหมุนไป
ถามว่ากระบวนการเศรษฐกิจเช่นนี้ยึดหลัก พอเพียง หรือไม่ คำตอบอยู่ที่ว่ากระบวนการแจกเงินครั้งนี้ต้องการอย่างใดเป็นด้านหลัก ระหว่าง 1 แจกเงินให้เก็บตามแนวมีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท กับ 1 แจกเงินแล้วให้ใช้
หากเป็นไปอย่างแรกก็ 'พอเพียง'
หากเป็นไปอย่างหลังก็ไม่น่าจะเป็น 'พอเพียง'หากแต่เพื่อหวังให้เงินผ่านมือไปหลายมือในลักษณะหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าตามวงจร
อย่าลืมเป็นอันขาดว่า'มาตรการ'นี้ คือ'กระตุ้น'
จึงต้องให้ 'โอกาส' รัฐบาล จึงต้องให้โอกาส ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในการแสดงความสามารถ
ทุกอย่างล้วนดำเนินไปอย่างที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว เรามาแก้ปัญหาแบบที่ใครไม่เคยที่จะกล้าแก้มาก่อน เรามาแก้ปัญหาเป็นระบบ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำ"
ที่สำคัญ 'ปัญหาเหล่านี้สะสมมานานแค่ไหน'