- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 02 October 2014 17:14
- Hits: 3128
จ่อหั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้แบงก์โลกส่งซิกหลายปัจจัยไม่เข้าตากรรมการ
บ้านเมือง : เวิลด์แบงก์ เตรียมลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้หลังหลายปัจจัยไม่เป็นไปตามคาด ด้าน'หม่อมอุ๋ย'เชื่อมาตรการกระตุ้น ศก.ช่วยสร้างความมั่นใจนักลงทุน ขณะที่ "พรายพล" คาด แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นใช้งบค้างท่อปี 57 ชี้ ส่งออกไทยน่าห่วง หลัง ส.ค. ติดลบหนัก 7.4%
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เตรียมปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย.57 โดยปัจจัยหลายตัวที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยเวิลด์แบงก์จะแถลงภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ต.ค.นี้
"แนวโน้มลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน เราคิดว่าพอมีรัฐบาลใหม่แล้วเศรษฐกิจจะฟื้น พอมาดูข้อมูลก็มีปัจจัยหลายตัว ทั้งการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนกลับโตน้อยกว่าที่คาดไว้"น.ส.กิริฎา กล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น น.ส.กิริฎา กล่าวว่า คงต้องรอดูรายละเอียดก่อน แต่เท่าที่รู้ข่าวจะเป็นการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว แต่ไม่รู้ว่าจะมีโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นหรือไม่ เพราะการลงทุนของภาครัฐมีขั้นตอน ไม่สามารถดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในทันที ขณะเดียวกันภาครัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมที่ดำเนินการได้เพียง 70-80% เท่านั้น
"หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 สัดส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเหลือแค่ 4-5% ของจีดีพี ทั้งที่ควรจะมีราว 8-9% ซึ่งอาจเป็นเพราะภาครัฐต้องการรัดเข็มขัด" น.ส.กิริฎา กล่าว
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ได้แก่ ภาวะการส่งออกหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป ดังนั้นภาครัฐควรเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อมาชดเชยการส่งออกที่ถดถอยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเรื่องคุณภาพและต้นทุนแรงงาน
"ต้องเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ลดการส่งออก เพราะดีมานด์ในประเทศยังซบเซาหลังเกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง"น.ส.กิริฎา กล่าว
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีสัมมนา'ความเสี่ยงของโลก และภาวะเศรษฐกิจของไทย'โดยระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีวันนี้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นการมุ่งใช้งบประมาณ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และทำให้ประชาชนมีรายได้ โดยจะจัดสรรงบร้อยละ 20 ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีเงินเฟ้อเดือนกันยาต่ำสุดรอบปีนี้ เช่น การใช้งบประมาณค้างท่อ 1.49 แสนล้านบาท งบไทยเข้มแข็งอีก 2.3 หมื่นล้านบาท เน้นซ่อมสร้างถนนที่เสียหายจากน้ำท่วม เมื่อปี 2554 เป็นต้น
นอกจากนี้ จะเร่งอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่ค้างอยู่มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท และปี 58 จะสามารถเปิดประมูลรถไฟฟ้า 8 เส้นทาง จากทั้งหมด 10 เส้นทาง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่จะเริ่มต้นฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และกลับมาเป็นปกติในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะโตได้ประมาณร้อยละ 4-5
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผ่านรายการ ไอ.เอ็น.เอ็น. โฟกัสเศรษฐกิจ ว่า แพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ คาดจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเร่งรัดใช้งบประมาณปี 2557 ที่ยังค้างท่ออยู่ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ให้มีการประมูลและประกวดราคา
ขณะที่การส่งออกเดือนสิงหาคม ที่พบว่าติดลบถึง ร้อยละ 7.4 ทำให้สถานการณ์ส่งออกไทยถือว่าน่าเป็นห่วงมาก ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกจะไทยจะโตอย่างน้อย ร้อยละ 10 และสาเหตุไม่น่าจะมาจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นตัว แต่น่าจะมาจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น การเมือง ความสามารถในการแข่งขันที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม