- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 10 September 2019 17:38
- Hits: 4112
กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.50-30.80 จับตามาตรการอีซีบี หลังค่าเงินยูโรอ่อน
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-30.80 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 30.66 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3.5 พันล้านบาท และ 1.16 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับเยน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นและสินทรัพย์เสี่ยงได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่าสหรัฐฯ และจีนจะหาทางยุติสงครามการค้ารวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งเกินคาด
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 12 ก.ย. ซึ่งคาดว่าจะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงและส่งสัญญาณการดำเนินโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์รอบใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เงินยูโรอ่อนค่าลงนับตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือนก.ค. สะท้อนคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ดังนั้น มาตรการของอีซีบีอาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นแรงขายเงินยูโรรอบใหม่ นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แย่กว่าคาด ไม่กระทบดอลลาร์มากนัก และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนเงินปอนด์มีแนวโน้มผันผวนสูงแม้ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี หลังสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ อนุมัติร่างกฎหมายเลื่อนเส้นตาย Brexit ออกไปเป็นครั้งที่สาม โดยเรามองว่าความหวังที่จะหาทางออกที่ราบรื่นของ Brexit อาจเป็นเพียงการยื้อเวลาความไม่แน่นอนออกไป
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 0.8-0.9% ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันที่สูงในปี 2561 และเงินบาทแข็งค่า ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณชะลอตัว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 0.87% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.55% เราคาดว่ากนง. มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้นและส่งสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมเดือน ก.ย. เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเรามองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้นนโยบายลงสู่ระดับ 1.25% ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
AO09167
Click Donate Support Web