- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 26 September 2014 22:33
- Hits: 3018
นิด้า คาด GDP ปีนี้โต 1.8% หลังส่งออกวูบแม้การเมืองคลี่คลาย, ปี 58 โต 5.4%
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คาดภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้น่าจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงร้อยละ 0.1 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 และขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 5.4 ในปี 58
"ในช่วงไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยจะเริ่มจากการบริโภคภาคเอกชนที่จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 ส่วนการลงทุนจะเริ่มฟื้นตัวช้ากว่าคือไตรมาสที่ 4 ทำให้ทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยการฟื้นตัวที่ช้านี้มาจากการส่งออกที่คาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2557 กลับปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้เศรษฐกิจในปี 2557 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ช่วงมิถุนายนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 คาดว่าในปี 2558 การส่งออกน่าจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ทำให้ในปี 2558 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวร้อยละ 5.4 ได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยปัจจัยที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในปี 58 ปรับตัวสูงมาจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวในปี 2558 เช่นเดียวกับการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นแต่การนำเข้าก็จะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน และปรับตัวในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของการส่งออกทำให้มูลค่าการค้าสุทธิไม่ได้ช่วยเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจเท่ากับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวในอัตราที่สูงเนื่องจากเป็นการปรับตัวให้เข้าสู่ระดับดุลยภาพชดเชยที่ชะลอตัวในปี 2557
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 57 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ 1.5 ตามลำดับซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพราะราคาน้ำมันในปีนี้มีการปรับตัวขึ้นไม่มากทำให้ ดัชนีราคาพลังงานน่าจะปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2553-2556 ซึ่งดัชนีราคาพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 โดยเฉลี่ย ดังนั้นคาดว่าในปี 2557 ปัญหาเกี่ยวกับเสถียรภาพเงินเฟ้อจะไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับทรงตัว ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นราคาพลังงานในประเทศ เช่น LPG, NGV เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาในภาพรวมที่น้อยเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 1.8 ตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ส่วนค่าเงินบาทในปี 57 คาดว่าเคลื่อนไหวระดับประมาณ 32.10-32.50 บาท/ดอลลาร์ โดยในไตรมาสที่ 1-3 ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวเป็นไปตามแนวโน้มของตลาดการเงินโลกที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นและแนวโน้มนโยบายการเงินในสหรัฐที่ลดการผ่อนคลายลง คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 4/2557 ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 32.50 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนตัวลงเป็น 34.60 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปี 2558 เนื่องจากคาดว่าผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินสหรัฐจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2558 ส่วนนโยบายการเงินของไทยคาดว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าสหรัฐฯ ประมาณ 1-2 ไตรมาส เพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาในครึ่งแรกของปี 2557 ทำให้คาดว่าการปรับดอกเบี้ยนโยบายการเงินเป็นร้อยละ 2.25 จะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3
ขณะที่การส่งออกปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นและน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ก็เกิดการชะงักงันเช่นเดียวกัน โดยมีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ติดลบ ทำให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีขาดปัจจัยเกื้อหนุนที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่คาดหวังไว้ คาดว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นโดยน่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ทำให้การส่งออกทั้งปี 2557 น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 และน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 เป็นร้อยละ 6.8
อินโฟเควสท์