WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CIMBT เพิ่มเป้าจีดีพีปีหน้าโต 4.5% ได้การบริโภค-ลงทุนหนุน ส่วนปีนี้คงเป้าโต 1.5% หนุนรัฐขึ้นอัตราจัดเก็บ VAT

    CIMBT เพิ่มเป้าจีดีพีปีหน้าโต 4.5% ได้การบริโภค-ลงทุนหนุน ส่วนปีนี้คงเป้าโต 1.5%  พร้อมคาดการณ์เงินเฟ้อปีหน้าสูงขึ้นอยู่ในกรอบ 2.4-2.5% ตามราคาอาหารและพลังงาน มองค่าเงินปีหน้าแตะ 34 บาทต่อดอลล์ หลังเงินทุนไหลออก-ดอกเบี้ยทั้งปี 58 ขึ้น 0.50% ตามทิศทางดอกเบี้ยโลก หนุนรัฐขึ้นอัตรา VAT แต่ควรทยอยปรับ เพื่อลดผลกระทบต่อ ศก. 

   นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ธนาคารมองว่าในปีหน้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จะฟื้นตัวได้ที่ระดับ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเดินหน้าการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนต่อเนื่องด้วย ขณะที่ปีนี้มองว่าจีดีพีจะขยายตัวได้เพยง 1.5% จากการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากการส่งออกยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง สินค้าในไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก   

    ส่วนปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าที่ต้องจับตามอง 3 ด้าน คือปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ การส่งออกไม่ได้อยู่ในอุปทานของโลก เนื่องจากไทยไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้ ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การบริโภคอาจฟื้นตัวได้ไม่แรงนัก เพราะในปีหน้าดอกเบี้ยเป็นช่วงขาขึ้น อาจเป็นภาระในการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจคงมองว่าในปีหน้าการบริโภคอาจไม่ใช่ตัวหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน  

    "มองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจคงกลับมาฟื่นตัวได้ จะแรงหรือไม่นั้นคงต้องดูหลายส่วนประกอบกัน ส่วนนโยบาบของรัฐบาลชุดใหม่ ถือเป็นแนวทางที่ดี ที่ต้องการวางรากฐานของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว" นายอมรเทพ กล่าว 

     ธนาคารมองว่า อัตราเงินเฟ้อในปีหน้ามีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน โดยมองว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.4-2.5% จากการเร่งตัวของราคาสินค้าและพลังงานที่มีการตรึงราคาเอาไว้ในปีนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.2% แต่อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล เพราะเชื่อว่าทางการจะมีการบริหารจัดการ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นจะเข้ามาเป็นตัวลดแรงกดดันดังกล่าวด้วย  

    "ปีหน้าเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวอย่างแน่นอน เพราะราคาต่างๆ ที่เรามีการเบรกในการปรับขึ้นราคาในปีหน้าไว้ จะเริ่มปรับสูงขึ้น จึงเชื่อว่าปีหน้าคงมีหลายปัจจัยที่จะต้องดูแลอย่างแน่นอน ส่วนในปีนี้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวลใจอะไร" นายอมรเทพ กล่าว 

   ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้ามีโอกาสที่จะอ่อนค่าอย่างรวดเร็วที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ คิวอีของสหรัฐในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน และมีโอกาสสูงที่นักลงทุนจะกลับไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐจากการที่สหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นในช่วงปีหน้า

    ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศ ประเมินว่า ในปีหน้าคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยทั้งปีคาดว่าจะปรับขึ้นทั้งสิ้น 0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 2.5% จากปัจจุบันที่ระดับ 2% ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก  รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องทยอยปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีช่องว่างในการทำนโยบายในระยะต่อไปหากมีความจำเป็น เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ  

    "อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 2% และที่เคยต่ำสุดอยู่ที่ 1.25% ดังนั้น หากมีเหตุการณ์อะไรที่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีช่องว่างในการลดดอกเบี้ยแค่ 0.75% ซึ่งอาจไม่เพียงพอ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ในปีหน้าอาจมีแรงกดดันในเรื่องของเงินเฟ้อ จึงอาจมีความจำเป็นเพื่อขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป"นายอมรเทพ กล่าว

    นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า ว่าการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จากปัจจุบันที่ระดับ 7% นั้น ถือว่าเป็นการปฏิรูปภาษี เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่ม ในการเก็บเงินไว้ลงทุน แต่ทั้งนี้ หากขึ้นแบบก้าวก6ระโดดในอัตรา 10% ทันทีในปีหน้า อาจส่งกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อการบริโภคของภาคประชาชนในบางกลุ่มด้วย  

     "คงต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะหากขึ้นทีเดียวอาจกระทบต่อเศรษฐกิจพอสมควร แต่ถ้าค่อยทยอยๆปรับนั้นอาจมีช่องว่าง เวลาในการเตรียมตัว ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากปรับจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบญี่ปุ่นหรือไม่มองว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้น แต่ก็คงต้องรอดูนโยบายของทางการด้วยว่าจะมีการปรับในรูปแบบใด" นายอมรเทพ กล่าว

 สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปรียบนโยบาย Prayuthnomics เป็นกุหลาบ 3 ดอก มุ่งปฏิรูป 3 ด้าน การคลัง อุตสาหกรรม และภาครัฐ มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น แต่ไม่แรง

                นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (Mr.Amonthep Chawla, Ph.D., Head of Research Office, CIMB Thai Bank) เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบนโยบายอาเบะโนมิคส์ ของนายชินโซ อาเบะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็น ‘ธนู 3 ดอก’ กับนโยบายประยุทธ์โนมิคส์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็คงเปรียบได้กับ ‘กุหลาบ 3 ดอก’ ซึ่งขมวดนโยบายด้านต่างๆ ออกมาเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ การปฏิรูปการคลัง การปฏิรูปอุตสาหกรรม และการปฏิรูปภาครัฐ โดยมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการวางรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่แข็งแกร่ง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นสังคมไทย

                กุหลาบดอกแรก การปฏิรูปการคลัง : การลงทุนภาครัฐเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เอกชน โดยผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ เป็นต้น ในขณะที่บทบาทของรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) จะเข้ามาเป็นอีกช่องทางหนึ่งของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนคนมีรายได้น้อย

     กุหลาบดอกที่สอง การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม : อุตสาหกรรมแบบมีเป้าหมายชัดเจน อาทิ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

      กุหลาบดอกที่สาม การปฏิรูปภาครัฐ : การปฏิรูประบบภาษีมีความจำเป็นต่อการเพิ่มรายได้ภาครัฐและลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย ในขณะที่ระบบราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะได้รับการยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความล่าช้าในขั้นตอนการทำงาน หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ

     “ประเทศไทยต้องการการลงทุนและการเร่งใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากภาครัฐ โดยเฉพาะบทบาทที่ใหญ่ขึ้นของ SFIs และต้องการการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้นจากภาคเอกชนในยุคของ Digital Economy ตลอดจนการปฏิรูประบบภาษี ระบบราชการ และต้องการความโปร่งใส” นายอมรเทพ กล่าว 

      นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในระดับปานกลางตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นของผู้บริโภคและนักลงทุน ในขณะที่รัฐบาลใหม่ก็สามารถขับเคลื่อนโครงการลงทุนให้เดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ แต่ก็อาจไม่สามารถเร่งตัวได้แรงเช่นในอดีต เนื่องจากภาคส่งออกของไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทั้งหมดยังเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

     - การส่งออกจะฟื้นตัวในระดับปานกลางตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการส่งออกของไทยที่ยังอาศัยเทคโนโลยีที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำมาก ขณะที่สินค้าเกษตรเผชิญปัญหาอุปทานส่วนเกินที่ล้นอยู่ในตลาดโลก จึงเป็นข้อจำกัดการเติบโตของการส่งออก

     -การบริโภคภาคเอกชน จะฟื้นตัวในระดับปานกลางเช่นกันตามการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมอาหาร และภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ขยายตัวขึ้น แต่การบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนใหญ่ราว 50% ของจีดีพี อาจเติบโตไม่สูงมากนักท่ามกลางหนี้ครัวเรือนที่มีระดับสูงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน่าเป็นห่วงครัวเรือนที่เป็นหนี้ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังจะถูกปรับสูงขึ้น

    -นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จะยังคงขยายการผลิตในประเทศไทยต่อไปตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นและความมีเสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาจขยับขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานของไทย ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลงกว่าในอดีต

     -แม้เศรษฐกิจไทยจะถูกปัจจัยถ่วงดังกล่าวดึงรั้งไว้อยู่บ้าง แต่เชื่อว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปยังปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวตาม และช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอกชน นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจที่ภาครัฐมุ่งยกระดับบทบาทภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งเสริมธุรกิจ SMEs อย่างจริงจัง และ การเน้นการค้าชายแดนผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเร่งตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 นี้

     -ด้านความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2558 นั้น จะมาจากปัจจัยภายนอกที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ มากกว่าจะมาจากปัจจัยภายในที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการสิ้นสุดลงของความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมือง

      ในส่วนของสภาพคล่องนั้น นายอมรเทพ กล่าวว่า สภาพคล่องการเงินโลกที่กำลังตึงตัวมากขึ้นจะผลักดันให้เกิดความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯสูงขึ้น แต่ความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงในระดับภูมิภาคจะทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้

      -การสิ้นสุดของมาตรการ QE ของสหรัฐฯในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินขึ้นจากการที่นักลงทุนต้องการขายทำกำไรในตลาดเกิดใหม่โดยหันกลับไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะถูกปรับให้สูงขึ้นในอนาคต

    -คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเล็กน้อยตามการไหลออกของเงินทุนจากปัจจัยดังกล่าว

    -อย่างไรก็ตาม การไหลออกของเงินทุนน่าจะเป็นเพียงระยะสั้น และคาดว่าจะได้รับการชดเชยจากการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยยังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพทางการเมือง

    -ในอีกด้านหนึ่ง แม้มาตรการ QE ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลง แต่การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของเขตยูโรโซนและญี่ปุ่นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืดนั้น ถือเป็นปัจจัยที่เพิ่มความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ และจะทำให้เงินบาทไทยในปี 2557 ไม่อ่อนค่ามากอย่างที่มีการคาดการณ์กันก่อนหน้า

    - เงินบาทจะถูกกดดันมากขึ้นในปี 2558 ตามการไหลออกของเงินทุนจากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯจะสูงขึ้น ในขณะที่เงินบาทจะขาดแรงหนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2557 เนื่องจากคาดว่าการนำเข้าจะสูงขึ้นเพื่อเติมเต็มความต้องการลงทุนที่มากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้น

     ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่สามารถจัดการกับแรงกดดันเงินเฟ้อได้ดีโดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อลดภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท.จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เข้าสู่ระดับปกติออกไป

     -รัฐบาลใหม่ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างดีเพื่อช่วยตรึงราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่าย และทำให้ต้นทุนสาธารณูปโภคต่างๆไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    -ราคาพลังงานที่ต่ำลงจากกระบวนการปฏิรูปพลังงาน ช่วยลดภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนผ่านการลดราคาก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนและต้นทุนการเดินทาง

     -มาตรการทางภาษียังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะมีการทบทวนในปีหน้า

     -ถึงแม้จะมีความพยายามจากภาครัฐที่จะลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แต่ก็คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในปีหน้าตามความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค ในขณะที่การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับการทบทวนในปลายเดือนกันยายนปีหน้า

      -การจัดเก็บภาษีให้สูงขึ้นทั้งที่มาจากภาษีการขาย ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาษีการบริโภคประเภทอื่นๆ เช่น บุหรี่ ชาเขียว เป็นต้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการแม้จะมีผลเล็กน้อยต่อการปรับขึ้นของเงินเฟ้อก็ตาม

     กล่าวโดยสรุป แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอันเนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอ เป็นสาเหตุทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท.เลื่อนการตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นปีหน้า อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงที่นโยบายการเงินจะไม่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ หากเกิดความผันผวนรุนแรงขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจภูมิภาค

    ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 2.00% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เคยต่ำสุดอยู่ที่ 1.25% ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตรงจุดนี้เองอาจช่วยอธิบายว่าทำไมคณะกรรมการนโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสำรองกระสุนไว้ใช้ในช่วงจังหวะเวลาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!