- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 31 August 2018 17:35
- Hits: 6010
อ็อกซ์ฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป เผยผลการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของไทยแลนด์ 4.0 ในรายงานฉบับครบรอบ 10 ปี พร้อมเปิดตัวรายงานเศรษฐกิจของประเทศไทยประจำปี 2561
รายงานฉบับล่าสุดของอ็อกซ์ฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป (Oxford Business Group หรือ โอบีจี) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยระดับโลก เน้นความสำคัญของแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ อีอีซี) ซึ่งจะช่วยฟื้นระดับการลงทุนของต่างประเทศ
รายงานเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยประจำปี 2561 (The Report: Thailand 2018) ได้ศึกษาความพยายามของประเทศไทยในการที่จะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยการพัฒนาการผลิตที่ทันสมัยและบริการที่มีมูลค่าสูง ครอบคลุมรายละเอียดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยุคใหม่ (‘S-curve’ Industries) ซึ่งต้องพัฒนาเป็นลำดับแรกๆ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่ไปกับภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมซึ่งได้รับการฟื้นฟูภายใต้โครงการไทยแลนด์ 4.0 เช่น อุตสาหกรรมอาหารและการผลิตยานยนต์
ประเทศไทยวางเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค และมุ่งมั่นที่จะขยายอุตสาหกรรมนี้ด้วยการลงทุนในระบบนิเวศน์นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง รายงานเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยประจำปี 2561 ยังนำเสนอแผนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป รวมถึงการขยายเมืองอัจฉริยะ 100 แห่งทั่วประเทศ และการเปลี่ยนจากระบบเทคโนโลยี 4G เป็น 5G
โอบีจี ได้วิเคราะห์โครงการพัฒนาล่าสุดในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยว่า เป็นความพยายามที่จะปรับปรุงความสามารถในการผลิต และดึงดูดให้มีการลงทุนที่มีมูลค่าสูงในฐานที่ตั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด รวมทั้งส่งเสริมการเชื่อมโยงกับภูมิภาคที่เคยเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนามาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ็อกซ์ฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป ได้พิจารณาบทบาทสำคัญของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships) ในการทำให้โครงการต่างๆ บรรลุผล โดยเฉพาะในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการโดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ระบุในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โอบีจียังสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับประเทศจีน โดยจะเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย เข้ากับโครงการความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ บีอาร์ไอ) ของจีน
จากการที่ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ ทำให้ประเทศไทยกำลังมุ่งขยายผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้นรวมทั้งพัฒนาต่อยอดสินค้าฟุ่มเฟือย รายงานของโอบีจียังพิจารณาภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนา ได้แก่ธุรกิจการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ (MICE) การดูแลสุขภาพ การฮันนีมูน และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
รายงานเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยประจำปี 2561 นำเสนอผลงานของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคำแนะนำโดยละเอียดของแต่ละภาคส่วนสำหรับนักลงทุน
นอกจากนี้ รายงานฯ ยังเผยแพร่ผลงานของบุคคลสำคัญต่างๆ เช่น คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย นายปิแอร์ เจฟเฟอร์ (Pierre Jaffre) ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอร์บัส กรุ๊ป (Airbus Asia Pacific) และนายอนุทิน ชาญวีรกุล อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
นายโอลิเวอร์ คอร์น็อค บรรณาธิการอำนวยการของโอบีจี ได้แสดงความคิดเห็นก่อนเปิดตัวรายงานฯ ว่า ในขณะที่ประเทศไทยพยายามต่อสู้กับการลงทุนที่ลดลงของต่างชาติหลังจากที่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจ โครงการความริเริ่มใหม่ๆ เริ่มแสดงให้เห็นผลอย่างชัดเจน โดยมีตัวเลขระบุว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงกว่าเป้าหมายของประเทศที่ตั้งไว้ในปี พ.ศ. 2560
“ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ประเทศกำลังเตรียมที่จะกลับสู่กฎแห่งประชาธิปไตย นอกจากนี้ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ยังคงเป็นปัญหา” นายโอลิเวอร์ กล่าว “อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้องการสูงกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ส่งสัญญาณให้เห็นภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2561 และในเวลาข้างหน้า”
นายแพททริก คุ้ก บรรณาธิการประจำภูมิภาคเอเชียของโอบีจี เสริมว่าประเทศไทยพยายามกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนท่ามกลางการพัฒนาอย่างรวดเร็วในภูมิภาคและการแข่งขันที่เข้มข้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป
“โครงการความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) ของจีนกำลังเริ่มปรับเปลี่ยนภูมิภาคเียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่มีการเร่งให้เกิดการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN)” นาย แพททริก อธิบายเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมยุคใหม่ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ประเทศไทยก็มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและจุดแข็งมากมาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยซึ่งพยายามที่จะก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ดังที่แสดงในรายงานครบรอบปีที่สิบของเรา”
รายงานเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยประจำปี 2561 ได้รวบรวมงานวิจัยภาคสนามซึ่งใช้เวลามากกว่า 12 เดือนโดยทีมนักวิเคราะห์ของอ็อกซ์ฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป รายงานฯ นี้จะประเมินแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โครงสร้างพื้นฐาน การธนาคาร และอื่นๆ
รายงานฯ นี้จัดทำโดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าอเมริกัน รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จากบีดีโอ ไทยแลนด์ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด และบริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ จำกัด มีให้เลือกทั้งแบบพิมพ์และแบบออนไลน์
เกี่ยวกับอ๊อกฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป
อ๊อกฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ป (โอบีจี) เป็นบริษัทจัดทำรายงานการวิจัย และที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งมีการตีพิมพ์เรื่องราวด้านภาวะเศรษฐกิจของตลาดต่างๆในตะวันออกกลาง, แอฟริกา, เอเชีย, ลาตินอเมริกา และแถบแคริบเบียน ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆในทั้งรูปแบบสิ่งพิมพ์และออนไลน์ โอบีจีนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมและแม่นยำทางเศรษฐกิจมหภาคและการพัฒนาของภาคธุรกิต่างๆ ซึ่งรวมถึง การธนาคาร ตลาดทุน การประกันภัย พลังงาน การขนส่ง อุตสาหกรรม และการโทรคมนาคม
รายงานการวิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจและธุรกิจนี้ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญชั้นนำด้านธุรกิจที่มีความครอบคลุมเกี่ยวกับประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคฯ บทสรุปออนไลน์ทางด้านเศรษฐกิจของโอบีจีนำเสนอการวิเคราะห์เชิงลึกที่ทันต่อสถานการณ์และประเด็นใหม่ๆอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเผยแพร่ให้กับสมาชิกหลายหมื่นรายจากทั่วโลก ส่วนงานที่ให้บริการด้านที่ปรึกษานั้น ทางบริษัทอ๊อกฟอร์ด บิสสิเนส กรุ๊ปได้เสนอการวิเคราะห์ด้านการตลาดพร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทลูกค้าต่างๆที่มีการดำเนินธุรกิจอยู่และลูกค้าที่เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคนี้
Click Donate Support Web