- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 14 April 2018 20:22
- Hits: 31777
ADB คาด GDP ไทยปี 61 โต 4% จากเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ลงทุนเอกชน-บริโภคภายในกระเตื้องขึ้น, ปี 62 โต 4.1%
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook : ADO) โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4% ในปี 61 และ 4.1% ในปี 62 เนื่องจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศที่กระเตื้องขึ้น
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อ ธ.ค.60 เอดีบี เคยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 61 จะขยายตัว 3.8% ใกล้เคียงกับปี 60
พร้อมกันนั้น รายงานในฉบับนี้ เอดีบี ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสูงถึง 6% ในปี 61 และ 5.9% สำหรับปี 62 ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยจาก 6.1% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในปี 60 หากไม่นับรวมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Economies) ที่มีรายได้สูง คาดว่า GDP จะสูงถึง 6.5% ในปี 61 และ 6.4% สำหรับปี 62 ลดลงจาก 6.6% ในปี 60
"แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากนโยบายที่สมเหตุสมผล การขยายตัวปริมาณการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็ง...การเชื่อมโยงทางการค้าของภูมิภาคที่เข้มแข็งและนโยบายตั้งรับทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเพื่อให้ทนต่อปัจจัยความเสี่ยงภายนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งรวมถึง ความตึงเครียดทางการค้า และการไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุน" นาย Yasuyuki Sawada หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว
เอดีบี ยังระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดย GDP รวมของสหรัฐอเมริกา ประเทศโซนยุโรป และญี่ปุ่นจะสูงถึง 2.3% ในปี 61 และจะชะลอตัวลงที่ 2.0% ในปี 62 การบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีล่าสุด (Tax Cuts) จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแทน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในขณะที่การเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโซนยุโรปและญี่ปุ่น
ภาคบริการของประเทศจีนซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8% ในปี 60 ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 61 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงที่ 6.6% และ 6.4% ในปี 62 หลังจากมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วที่ 6.9% ในปี 60 สำหรับประเทศจีน อุปสงค์ภายในประเทศและในต่างประเทศที่เข้มแข็ง ผนวกกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ได้วางรากฐานซึ่งช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาคอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เอเชียใต้ยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุดในโลก สาเหตุหลักเกิดจากการฟื้นตัวของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 7.3% สำหรับปีงบประมาณ 61 และ 7.6% สำหรับปีงบประมาณ 62 เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ในปี 60 ที่ 6.6% ผลกระทบจากการยกเลิกการใช้ธนบัตรฯ มูลค่าสูงได้หมดไป และการดำเนินการเก็บภาษีในสินค้าและบริการอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของอินเดียไปจนถึงปี 62
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงได้รับอานิสงส์จากการกระเตื้องขึ้นของการค้าโลกและการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อัตราการเติบโตของอนุภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตที่ 5.2% ในปี 61 และ 62 ซึ่งเป็นอัตราคงเดิมจากเมื่อปี 60 การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งจะช่วยเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนเศรษฐกิจของเวียดนามจะได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มศักยภาพการผลิตในประเทศ
อัตราการเติบโตของเอเชียกลางคาดว่าจะสูงถึง 4.0% ในปี 61 และ 4.2 ในปี 62 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นปัจจัยเกื้อหนุนหลัก ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของแปซิฟิกคาดไว้ที่ 2.2% และ 3.0% สำหรับปี 61-62 อันเนื่องมาจากปาปัวนิวกินีซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิก ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติชั่วคราว
ราคาสินค้าผู้บริโภคและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในเอเชียที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงยิ่งขึ้นในภูมิภาค ดัชนีราคาผู้บริโภคคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.3% ในปี 60 ไปอยู่ที่ 2.9% ในปี 61 และ 62 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีของภูมิภาคที่ 3.7%
ด้านความเสี่ยงต่างๆ ถือเป็นปัจจัยลบต่อการประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยความเสี่ยงหลักที่เกิดขึ้นคือความกังวลว่าความตึงเครียดทางการค้าจะบานปลาย แม้ว่านโยบายขึ้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่ส่งผลต่อการค้าเท่าใดนัก แต่การเคลื่อนไหวต่อไปของสหรัฐและการโต้ตอบของประเทศต่างๆ ที่มีต่อสหรัฐฯ จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในเอเชียและแปซิฟิกถดถอยลง นอกจากนั้นการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นตัวเร่งการไหลออกของเงินทุน แต่สภาพคล่องที่มีจำนวนมากในภูมิภาคจะช่วยบรรเทาผลกระทบความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น หนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวลของเศรษฐกิจบางประเทศในเอเชีย จากการศึกษาของเอดีบีพบว่า การสะสมหนี้สินจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น หนี้ภาคเอกชนในประเทศเอเชียกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก และผลของการก่อหนี้ของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกซึ่งมีผลจำกัดต่อการเพิ่มผลผลิต ได้สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการลงทุนที่งอกงามเสมอไป ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้จากการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเงินในภูมิภาค
อินโฟเควสท์
กกร.ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 61 โต 4.0-4.5% ได้แรงหนุนจากส่งออก-ท่องเที่ยว
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของ
ปี 2561 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งของการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกของ
ไทยเติบโตแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ยังคงขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวในทุกหมวดทั้งสินค้าทุน วัตถุดิบ
และสินค้าขั้นกลาง และสินค้าเพื่อการบริโภค สะท้อนถึงกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ที่ประชุม กกร.จึงมีมติปรับเพิ่มประมาณการการส่งออก และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 โดยประเมินว่า การส่งออกอาจขยายตัว 5.0-8.0% ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.0-4.5%
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังคงมีประเด็นท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ รวมทั้งการเปิดเผยรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนนี้ ตลอดจนการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรบางรายการและ
ความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ ซึ่ง กกร.จะติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด
สำหรับ ประเด็นข้อพิพาททางการค้าจากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองในรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เปิดเผยโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น ในชั้นนี้ กกร.เห็นว่าอาจจะยังมีผลกระทบที่จำกัดต่อการส่งออกของไทยในปี 2561 จึงมีการปรับเพิ่มประมาณการตามที่ระบุ
ปี 2561 ประมาณการเดิม (10 ม.ค.61) ประมาณการใหม่ (3 เม.ย.61)
GDP 3.8-4.5% 4.0-4.5%
ส่งออก 3.5-6.0% 5.0-8.0%
เงินเฟ้อทั่วไป 1.1-1.6% 0.7-1.2%
นอกจากนี้ กกร.เห็นว่า มาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2562 เป็นมาตรฐานที่มีผลกระทบกับภาค
ธุรกิจในวงกว้าง จึงเสนอให้คณะกรรมการกำกับวิชาชีพการบัญชี (กกบ.) ทำการพิจารณาผลกระทบให้รอบด้านและพิจารณาราย
ละเอียดให้มากขึ้น และเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้เป็นปี 2565