- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 28 January 2018 10:52
- Hits: 4595
สแตนชาร์ดคาดศก.ไทยปีนี้โต 4.3% เล็งธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งใน H2 หลังเงินเฟ้อฟื้นตัว
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า นายทิม กล่าวในงานแถลงข่าว Global Research Briefing 2018 ว่า 3 ปัจจัยหลักที่พร้อมหนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 61 เติบโตได้ถึง 4.3% ซึ่งมากกว่าสำนักอื่นที่คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ 4% คือการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภาคการผลิตเพื่อส่งออก ภาคการบริการ และภาคการเกษตร
สำหรับ ในภาคการผลิตเพื่อส่งออกนั้นคิดเป็น 40% ของจีดีพี และเติบโตอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่าการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตในปี 60 นั้นเติบโตถึง 15% ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณให้เห็นถึงการเติบโตในภาคการส่งออกในปี 61 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดไว้ที่ 6.5%
ในส่วนของภาคการบริการ ซึ่งคิดเป็น 50% ของจีดีพี ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10% จาก 35 ล้านคน/ปี เป็น 38 ล้านคน/ปี และจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 15% ของจีดีพี) และในจำนวนนั้นจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 30% นอกจากนั้นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะไม่เป็นอุปสรรคในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศแต่อย่างใด
ปัจจัยแรงหนุนที่สาม ได้แก่ภาคการเกษตร ที่คิดเป็น 10% ของจีดีพีและ 30% ของการจ้างงานทั่วประเทศ จะได้แรงหนุนจากปรากฏการณ์“ลานินย่า"ที่คาดว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งการกักตุนปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตต์ในปีที่ผ่านมานั้นอยู่ในปริมาณที่มากกว่าปีก่อนหน้า และจะเป็นฉนวนป้องกันการขาดแคลนน้ำเพื่อการทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี
ด้านนโยบายการเงินของไทย นายทิม เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 61 โดยมีเหตุผลหลัก 4 ประการได้แก่ 1) แรงกดดันจากธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และมาเลเซียที่คาดว่าจะปรับดอกเบี้ยในช่วงต้นปีนี้ 2) การที่จีดีพีของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดสามปี 3) ความจำเป็นที่ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน และ 4) ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำแต่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่ายังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และอาจแข็งตัวขึ้น 5% และแตะ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 61 โดยมีปัจจัยสนับสนุนผ่านรายได้ที่ไหลเข้าประเทศผ่านทางภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการกลับเข้ามาในตลาดทุนของนักลงทุนต่างชาติที่หันมาให้ความสนใจในประเทศไทยอีกครั้งหลักการฟื้นตัวของเสถียรภาพทางการเงิน
นายทิม กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นประเทศไทยที่ยังไหลเข้ามาค่อนข้างน้อย แต่มีโอกาสที่จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเพิ่มเติมหากมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 20 โครงการ มูลค่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาลงทุน 7 ปี คิดเป็นปีละ 1 แสนล้านบาท คิดเป็น 1% ของจีดีพี
โครงการใน EEC คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท ซึ่งภาครัฐต้องการให้การประมูลจบก่อนสิ้นปีนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อจีดีพีไทยในอนาคต และถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญอย่างมาก
ส่วนนโยบายการเงินของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/61) มาอยู่ที่ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ในกรอบล่างที่ระดับ 1% รวมถึงแรงกดดันจากธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกและในภูมิภาคเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ประกอบกับการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
สำหรับ ทิศทางค่าเงินบาทประเมินว่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง โดยทั้งปีอาจแข็งค่าขึ้น 5% โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแข็งค่าไปแล้ว 2% ซึ่งสิ้นปีนี้มองค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31.00 บาท/ดอลลาร์ จากสิ้นปี 60 ที่อยู่ 32.50 บาท/ดอลลาร์
อินโฟเควสท์