เทียบฟอร์มคู่แข่งยางพาราไทย: ความท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัวสู่ปลายน้ำ เพื่อก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Friday, 03 June 2016 14:47
- Hits: 906
เทียบฟอร์มคู่แข่งยางพาราไทย: ความท้าทายที่ต้องเร่งปรับตัวสู่ปลายน้ำ เพื่อก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน
'ยางพารา' นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากปีละไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท จากการที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลกมากว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีน ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเป็นผลจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน ซึ่งส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม อันส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการใช้ยางพารา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่ได้เร่งตัวสูง ล้วนส่งผลกดดันราคาส่งออกยางพาราของไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก (ในปี 2556 ไทยมีปริมาณการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 3.4 ล้านตัน รองมาคืออินโดนีเซีย 2.7 ล้านตัน และมาเลเซีย 0.8 ล้านตัน) แต่การกำหนดราคายังคงต้องอิงกับความต้องการของประเทศผู้นำเข้า หรือนโยบายของประเทศคู่แข่ง ดังนั้น ในระยะถัดไป เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกและลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ไทยมีความแข็งแรงในอุตสาหกรรมยางพาราและสามารถรักษาบทบาทความเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ก็คือ 'การสร้างมูลค่าเพิ่ม' ให้กับผลผลิตยางพาราสู่ 'ผลิตภัณฑ์แปรรูป' ซึ่งเป็นการยกระดับการผลิตยางพาราของไทยโดยเน้นไปที่ปลายน้ำมากขึ้น และเป็นยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่สากล ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการส่งออกยางพาราที่สำคัญของไทย ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น