ไทยต้องปรับตัวรับ GSP ระบบใหม่ของอียู ปี’57 พร้อมเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Friday, 27 May 2016 06:04
- Hits: 1200
ไทยต้องปรับตัวรับ GSP ระบบใหม่ของอียู ปี’57 พร้อมเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป
การปรับเปลี่ยนระเบียบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยไปยังสหภาพยุโรปหรืออียู เนื่องจากไทยได้พึ่งพาสิทธิ GSP จากอียูมาโดยตลอดในฐานะประเทศกำลังพัฒนา โดยการส่งออกของไทยที่เป็นการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ตามข้อมูล 9 เดือนแรกของปี 2555 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,323 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 38.6 ของการส่งออกรวมจากไทยไปอียู ซึ่งสินค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิ GSP สูงได้แก่ ยานยนต์ขนส่ง กุ้งแปรรูป เครื่องปรับอากาศ สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น
ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ภายหลังไทยถูกตัดสิทธิ GSP นั้น สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังอียูต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าปกติ (Most Favored Nation: MFN) ที่สูงกว่าอัตรา GSP การวิเคราะห์ผลกระทบสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา ในช่วงแรก คือ ช่วงปี 2557-2558 ที่ไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP รวมทั้งสิ้น 3 หมวดสินค้า คือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และสินค้าประมงแปรรูป (HS 16) อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ (HS 17-23) และอัญมณีและเครื่องประดับ (HS 71) โดยอัญมณีและเครื่องประดับนั้นไทยถูกตัดสิทธิมาก่อนหน้านี้แล้ว สับปะรดกระป๋อง กุ้งแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยงคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP ในช่วงแรกนี้ โดยสับปะรดกระป๋องของไทยแม้สามารถครองตลาดอียูได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็มีคู่แข่งที่สำคัญอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ต่างเป็นผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องอันดับต้นๆของโลก และมีแนวโน้มที่จะได้รับสิทธิ GSP ในปี 2557 ต่อไป ดังนั้น ความได้เปรียบด้านราคาจากส่วนต่างของอัตราภาษีปกติ และอัตรา GSP (ร้อยละ 3.5) จึงอาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของการนำเข้าสินค้าจากไทยไปยังประเทศเหล่านี้ได้ กุ้งแปรรูป ไทยมีการพึ่งพาตลาดอียูราวร้อยละ 15-20 ประเทศคู่แข่งที่มีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและยังไม่โดนตัดสิทธิ GSP ในปี 2557 ได้แก่ เวียดนามและจีน ที่ผ่านมาไทยมีการใช้สิทธิ GSP ถึงร้อยละ 94 จึงอาจเกิดผลกระทบค่อนข้างมากในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้งแปรรูปและสับปะรดกระป๋อง ส่วนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ไทยพึ่งพาตลาดอียูประมาณร้อยละ 15 และมีส่วนต่างของอัตราภาษีประมาณร้อยละ 6.3 ส่งผลให้ราคาอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในตลาดอียูก่อนและหลังการถูกตัดสิทธิ GSP ต่างกันพอสมควร ทำให้คู่ค้าอาจเลือกนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศคู่แข่งทดแทนได้