ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศต้นปี 2556...ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 23 May 2016 10:10
- Hits: 1243
ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศต้นปี 2556...ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ในวันที่ 20 พ.ย. 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 70 จังหวัดเป็น 300 บาท/วัน ภายหลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้วใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา โดยหลังจากที่ค่าจ้างปรับเป็น 300 บาททั่วประเทศแล้ว ก็จะคงไว้ที่ระดับนี้ไปอีก 2 ปี ยกเว้นกรณีที่เศรษฐกิจไทยมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม
แน่นอนว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวย่อมมีผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลายด้านซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองดังนี้ แม้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มรายได้แรงงาน...แต่ยังต้องติดตามผลต่อจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ จะช่วยให้แรงงานใน 70 จังหวัดซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 70.0 ของแรงงานฐานค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของจีดีพีในปี 2556 อย่างไรก็ดี แรงหนุนจากการขึ้นค่าแรงที่จะส่งผ่านการบริโภคภาคเอกชนมายังจีดีพีอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดังกล่าว เนื่องจากผลของรายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจถูกลดทอนลงโดยหลายปัจจัย อาทิ ระดับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการผลักภาระต้นทุนการผลิตมายังผู้บริโภค ขณะเดียวกัน หากแรงงานยังมีภาระหนี้สินในครัวเรือนที่ต้องผ่อนชำระ ก็อาจต้องนำรายได้ส่วนเพิ่มนี้ไปชำระหนี้ดังกล่าว ส่งผลให้กำลังซื้อของแรงงานและการบริโภคภาคเอกชนไม่เพิ่มระดับขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดที่มีกำหนดปรับเพิ่มขึ้นในปี 2556 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และอาจทำให้แรงงานบางส่วนต้องตกงานและประสบภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นในการหางานใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่อาจฉุดรั้งให้ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศที่มีต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและจีดีพีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้แรงงานเช่นกัน