สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในอาเซียน...ไทยต้องเร่งเพิ่มคุณภาพแรงงานเพื่อให้แข่งขันได้ในยุค AEC
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 16 May 2016 06:26
- Hits: 1759
สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในอาเซียน...ไทยต้องเร่งเพิ่มคุณภาพแรงงานเพื่อให้แข่งขันได้ในยุค AEC
แรงงาน เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย อีกทั้งเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่มีผลต่อการกำหนดความสามารถในการแข่งขันในระดับอุตสาหกรรมและต่อเนื่องมายังระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไทยพร้อมด้วยเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ซึ่งไทยคงต้องเผชิญกับการแข่งขันในภูมิภาคเพื่อช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและการคงความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อภาวการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ตลาดแรงงานอาเซียนและจุดยืนของแรงงานไทย อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์เพื่อเร่งพัฒนาทักษะแรงงานและรักษาสถานภาพของตลาดแรงงานไทยให้สามารถแข่งขันได้ในภูมิภาค
จำนวนแรงงานและต้นทุนค่าจ้างที่แข่งขันได้คือจุดเด่นของตลาดอาเซียน...ขณะที่สถานะตลาดแรงงานไทยอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งในด้านจำนวนแรงงาน โดยในปี 2556 อาเซียนมีกำลังแรงงานอยู่ราว 420 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สะท้อนจากอัตราการเกิดที่ยังอยู่สูงกว่าระดับทดแทนในหลายประเทศ นอกจากนี้ อาเซียนยังมีต้นทุนแรงงานที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวันที่เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลักในเอเชีย
เมื่อเปรียบเทียบตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญ พบว่า สถานะของตลาดแรงงานไทยในภาพรวมอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยแม้ว่าแรงงานไทยจะมีจุดเด่นในการทำงานที่ต้องอาศัยความละเอียดและความคิดสร้างสรรค์ แต่ไทยก็เสียเปรียบอินโดนีเซียและกลุ่มประเทศ CLMV ในด้านจำนวนแรงงานและต้นทุนค่าแรง อ่อนด้อยกว่าฟิลิปปินส์ในด้านภาษา และตามหลังสิงคโปร์/มาเลเซียในด้านคุณภาพและผลิตภาพแรงงาน