ภาวะสังคมสูงวัยในอาเซียน: ความท้าทายทางด้านแรงงานในอนาคตอันใกล้ที่ไทยต้องเตรียมรับมือ
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 16 May 2016 05:48
- Hits: 1552
ภาวะสังคมสูงวัยในอาเซียน: ความท้าทายทางด้านแรงงานในอนาคตอันใกล้ที่ไทยต้องเตรียมรับมือ
สังคมสูงวัยหรือ Aging Society นับเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจอย่างกว้างขวางในระยะนี้ โดยหากพิจารณาถึงโครงสร้างประชากรภายในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าหลายประเทศในกลุ่ม AEC จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรในหลายๆมิติในระยะ 15- 25 ปีข้างหน้า ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบถึงผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้นำเสนอประเด็นวิเคราะห์สำคัญที่จะส่งผ่านเหตุของสังคมสูงวัยไปสู่ผลต่อเนื่องและความท้าทายที่ประเทศกลุ่ม AEC จะต้องเผชิญดังต่อไปนี้
โครงสร้างสังคมสูงวัยและประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาในอาเซียน การเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ ภาวะที่ประเทศมีสัดส่วนของประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ10 ของประชากรทั้งประเทศ หากพิจารณาตัวเลขประชากรตามรายงาน UN World Population Prospects: The 2012 Revision พบว่า ปี 2553 ภูมิภาคอาเซียนมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ในขณะที่สัดส่วนของประชากรสูงวัยทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 11 โดยสิงคโปร์และไทยเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนประชากรสูงวัยกว่าร้อยละ 14 และ 12 ตามลำดับ และยิ่งจะต้องเผชิญกับการเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์และสังคมสูงวัยสุดยอดอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า