เวียดนามรุก ... สร้างฐานการผลิตสมาร์ทโฟน โอกาสและผลกระทบการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 26 April 2016 09:08
- Hits: 2250
เวียดนามรุก ... สร้างฐานการผลิตสมาร์ทโฟน โอกาสและผลกระทบการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทย
จีนนับได้ว่าเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับหนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 487,462 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2555 อย่างไรก็ดี จากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศจีน โดยเฉลี่ย 300 ดอลลาร์ฯต่อเดือน ทำให้นักลงทุนต่างชาติได้เริ่มมองหาและขยายฐานการผลิตในประเทศอื่นๆที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายน้ำ เช่น การผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน และการประกอบสมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเห็นได้จากตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เริ่มชะลอตัวลงในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 8.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2555
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของการผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบตัวเครื่องสมาร์ทโฟน เวียดนามนับได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟน นอกเหนือจากจีนในอนาคต สำหรับปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่สนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนและตั้งฐานผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนาม ได้แก่ ประเทศเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนของจำนวนแรงงาน (52.6 ล้านคน ในปี 2555) ขณะเดียวกันค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก (100-150 ดอลลาร์ฯต่อเดือน) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน รวมไปถึงต้นทุนของค่าสาธารณูปโภคโดยเฉลี่ยยังต่ำ อาทิ ค่าน้ำประปาและค่าไฟ เป็นต้น ความสะดวกในการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตรายใหญ่เนื่องจากการผลิตสมาร์ทโฟนในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการประกอบ จึงต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากผู้ผลิตหลักคือ จีน(เกือบทั้งหมดมาจากจีนตอนใต้) เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ดังนั้นภูมิประเทศของเวียดนามจึงมีความได้เปรียบเรื่องการนำเข้าจากประเทศดังกล่าว และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี ได้แก่ การยกเว้นค่าธรรมเนียม (ประมาณร้อยละ 1-3 ของมูลค่าสินค้านำเข้า) ที่ต้องให้กับบริษัทของรัฐในกรณีที่บริษัทเอกชนนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล มีการกำหนดภาษีนิติบุคคลอัตราพิเศษที่ร้อยละ 10-20 ในกิจการที่ลงทุนในเขตส่งเสริมการลงทุนพิเศษ แต่นอกพื้นที่จะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของรายได้