การส่งออกกุ้งไทย ... ผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของสหรัฐฯ
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 25 April 2016 09:44
- Hits: 2547
การส่งออกกุ้งไทย ... ผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของสหรัฐฯ
จากการที่กระทรวงพาณิย์ของสหรัฐฯ ได้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duties: CVD) ต่อสินค้ากุ้งที่นำเข้าจาก 7 ประเทศผู้ส่งออกหลักของตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และไทย หลังจากมีข้อกล่าวหาว่า 7 ประเทศดังกล่าวมีการอุดหนุนจากภาครัฐในการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกและทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศอัตราภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุนในเบื้องต้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์การส่งออกกุ้งไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ดังนี้
มาตรการเก็บภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) จากสหรัฐฯ...อีกปัจจัยลบที่กดดันการส่งออกกุ้งไทย ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกกุ้งของไทยเผชิญกับหลากหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ที่ระบาดตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอสำหรับส่งออกและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ ยังเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสถานการณ์ทางด้านแรงงานที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกกุ้งของไทย