พม่ากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ...ผลต่อเศรษฐกิจไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Sunday, 27 March 2016 09:23
- Hits: 1205
พม่ากระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ...ผลต่อเศรษฐกิจไทย
การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำทางการเมืองพม่า ทั้งประธานาธิบดี Thein Sein ของพม่า และนาง Aung San Suu Kyi ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าในช่วงปลายเดือนกันยายน 2555 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีที่ผู้นำทางการเมืองของพม่าเดินทางเข้าประเทศสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้การเยือนสหรัฐฯ ของผู้มีบทบาททางการเมืองของพม่าทั้งสองเป็นไปตามภารกิจและบทบาทที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือ สายตาประชาคมโลกได้เห็นก้าวย่างความเป็นเสรียิ่งขึ้นของพม่าจนได้รับการยอมรับจากประเทศผู้คว่ำบาตรอย่างจริงจังต่อพม่าอย่างสหรัฐฯ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า หากพม่ายังคงมุ่งมั่นปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจังต่อเนื่อง ย่อมส่งผลดีไม่น้อยต่อโอกาสการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ และนานาประเทศสู่ระดับความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต อันจะเป็นข้อได้เปรียบของพม่าในการต่อยอดทางเศรษฐกิจและสร้างบทบาทของพม่าในเวทีโลกได้สดใสขึ้นด้วย
ท่าทีสหรัฐฯ …ตัวแทนเสียงสะท้อนการตอบรับการปฎิรูปของพม่าชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้หันความสนใจมายังพัฒนาการปฏิรูปทางการเมืองของพม่าจากการส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เป็นผู้แทนระดับสูงคนแรกของสหรัฐฯ เยือนพม่าเมื่อเดือนธันวาคม 2554 เห็นได้ว่า สหรัฐฯ ได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับพม่าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในเดือนเมษายน 2555 สหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายการคว่ำบาตรต่อพม่าด้วยการอนุญาตให้กิจกรรมไม่หวังผลกำไรสามารถเข้าไปดำเนินการในพม่าได้โดยไม่ถูกจำกัดการทำธุรกรรมการเงิน จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2555 สหรัฐฯ ได้แต่งตั้งนาย Derek J. Mitchell เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่าซึ่งเป็นคนแรกในรอบ 20 ปี จากนั้นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าได้ชัดเจนขึ้นด้วยการที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ธุรกิจสัญชาติอเมริกันเข้าไปลงทุนและให้บริการทางการเงินในพม่าได้ (โดยต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของบริษัท) กระทั่งล่าสุดได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้มีบทบาททางการเมืองระดับสูงของพม่าอย่างประธานาธิบดี Thein Sein ของพม่า และ Thura Shwe Mann โฆษกสภาผู้แทนราษฎรของพม่า ทำให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำเนินการในทรัพย์สินที่เคยถูกยึดไว้