เปิดประตูการค้าไทย-ชิลี โอกาสทางการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Sunday, 27 March 2016 08:00
- Hits: 1598
เปิดประตูการค้าไทย-ชิลี โอกาสทางการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทย
ในระยะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน เมื่อกลุ่มประเทศผู้บริโภครายใหญ่เช่น สหรัฐฯ และยุโรปยังคงเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศส่งผลต่อกำลังการบริโภคและความต้องการสินค้าจากต่างประเทศลดลง ประเทศในแถบอเมริกาใต้กลับพลิกสถานการณ์มาเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจด้วยอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่องด้วยขนาดของตลาดที่มีประชากรรวมทั้งภูมิภาคกว่า 600 ล้านคน และท่ามกลางกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ทั้ง 13 ประเทศ ชิลีถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความโดดเด่นในแง่ของการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ระดับรายได้ประชากรต่อหัวสูง (ประมาณ 3 เท่าของไทย) มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบการผลิตสำคัญ ผนวกกับการอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกสินค้าและบริการภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี ไทย-ชิลี (Thailand-Chile Free Trade Arrangement) ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเร็วๆนี้ น่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยหันกลับมามองชิลีในแง่มุมใหม่ในฐานะของการเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมและวิเคราะห์ความน่าสนใจของชิลีในแง่มุมต่างๆดังนี้
เศรษฐกิจเติบโต ประชากรรายได้ดี มีนโยบายสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ความน่าสนใจในเชิงเศรษฐกิจมหภาคของชิลีที่จะเอื้อต่อการค้าการส่งออกมีสามส่วนใหญ่ กล่าวคือ ชิลีเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ขับเคลื่อนโดยภาคบริการเป็นหลัก และมีสินค้าส่งออกหลักได้แก่ทองแดง (ชิลีเป็นผู้ผลิตทองแดงอันดับ 3ของโลก) ปลา (เป็นผู้ส่งออกปลาแซลมอนเป็นอันดับ 2 ของโลก) โดยจีดีพีของชิลีในปี 2554 อยู่ที่ 248.6 พันล้านดอลลาร์ฯ และมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 5.9 (เมื่อเทียบกับร้อยละ 6.1 ในปีก่อนหน้า) ถือว่าสามารถประคองตัวเองได้ดีภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2552 ด้วยระดับราคาทองแดงที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันชิลีก็มีสถานะทางการคลังที่เกินดุลมาโดยตลอดเอื้อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษกิจในช่วงที่โลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัว ทั้งนี้ IMF ได้คาดการณ์ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจชิลีในปี 2555 นี้น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.7 ขณะที่อัตราการว่างงานน่าจะลดลงจากร้อยละ 7.1ในปี 2554 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ในปี 2555 นี้