ธุรกิจโลจิสติกส์ครึ่งหลังปี 2555: ปัจจัยบวกจากการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค…รองรับ AEC
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Wednesday, 10 February 2016 14:33
- Hits: 1068
ธุรกิจโลจิสติกส์ครึ่งหลังปี 2555: ปัจจัยบวกจากการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค…รองรับ AEC
ตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา ธุรกิจโลจิสติกส์กลับมามีความคึกคักมากขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ได้กลับมาเร่งผลิตและเร่งกระจายสินค้าไปสู่มือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าขาดแคลน นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ยังได้รับปัจจัยหนุนเฉพาะของธุรกิจที่มาจากการพัฒนาระบบเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ สำหรับเส้นทางที่มีกิจกรรมการขนส่งที่คึกคักนั้น จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เส้นทาง R3A ที่เชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน เส้นทาง R8 R9 และ R12 ที่เชื่อมโยงไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน เป็นต้น เห็นได้จากสถิติการค้าชายแดน และจำนวนรถยนต์ที่ผ่านชายแดนตามเส้นทางดังกล่าวเติบโตเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ภาครัฐมีแผนการขยายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการคมนาคมทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็วและรองรับปริมาณขนส่งระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 ซึ่งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะช่วยเสริมโอกาสในการขยายตลาดของธุรกิจไทย รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมตัดผ่าน นอกจากนี้ จะเป็นการลดปัญหาคอขวดที่มีอยู่ เช่น ศักยภาพในการให้บริการของท่าเรือและสนามบิน อันจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทยในด้านต่างๆได้อย่างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ โอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะ ดังนี้
โครงข่ายคมนาคมส่งเสริมศักยภาพธุรกิจโลจิสติกส์...เร่งพัฒนาสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน การพัฒนาเส้นทางคมนาคมในประเทศได้นำพาความเจริญและส่งเสริมเศรษฐกิจในภาคต่างๆของไทย อีกทั้งประเทศไทยต้องการผลักดันบทบาทในการเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน จากจุดแข็งในด้านทำเลที่ตั้งซึ่งที่เป็นเส้นทางผ่านที่เชื่อมไปถึงเกือบทุกประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน