แผนใช้จ่ายภาครัฐ ... นัยต่อเศรษฐกิจ และประเด็นด้านเสถียรภาพ
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 09 February 2016 14:44
- Hits: 1167
แผนใช้จ่ายภาครัฐ ... นัยต่อเศรษฐกิจ และประเด็นด้านเสถียรภาพ
ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดและแปรญัติติ หลังจากเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยวงเงินรายจ่ายรวม 2.4 ล้านล้านบาท ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีแผนการลงทุนทั้งในส่วนที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และในส่วนที่เป็นแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วงปี 2555-2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ อีกด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แผนการดำเนินการทั้ง 3 ส่วนข้างต้นจากภาครัฐ ที่คงจะเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงปีข้างหน้า รวมไปถึงอาจมีนัยต่อประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปโดยสังเขปดังนี้
แผนการใช้จ่ายภาครัฐจาก 3 ส่วนหลัก ... เป็นวงเงินรวมกันกว่า 2.8 ล้านล้านบาท ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ... ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 นั้น กำหนดวงเงินรายจ่ายไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท จากกรอบในปีงบประมาณ 2555 ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ขณะที่ ประมาณการรายได้เท่ากับ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท จากตัวเลขคาดการณ์รายได้ในปีงบประมาณ 2555 ที่ 1.98 ล้านล้านบาท อันทำให้รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 3 แสนล้านบาท ต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2555 ที่ 4 แสนล้านบาท
อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การกำหนดขนาดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณที่ลดลง และมีแนวโน้มลดลงตามลำดับในปีต่อๆ ไปจนเข้าสู่ระดับสมดุลในปี 2559 สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการพยายามดูแลให้การใช้จ่ายอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ขณะที่ ในทางปฏิบัติ คงจะต้องพิจารณายอดขาดดุลที่เกิดขึ้นจริงซึ่งมีโอกาสจะคลาดเคลื่อนไปจากกรอบที่วางไว้ได้จากหลายเงื่อนไข อาทิ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อาจมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ เป็นต้น ตลอดจน แผนการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านช่องทางอื่นๆ อันจะทำให้สามารถประเมินภาพได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น