ค่า Ft จ่อขึ้น …ข้อจำกัดด้านอุปทานแหล่งพลังงานไฟฟ้า ความท้าทายด้านการบริหารจัดการพลังงานของไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 09 February 2016 13:43
- Hits: 1014
ค่า Ft จ่อขึ้น …ข้อจำกัดด้านอุปทานแหล่งพลังงานไฟฟ้า ความท้าทายด้านการบริหารจัดการพลังงานของไทย
จากการประชุมคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 ที่ผ่านมาได้มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft ในสัดส่วน 30 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริงมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าสำหรับกิจการขนาดเล็กและครัวเรือน(ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วย) น่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2-10.9 อันจะส่งผลต่อภาระค่าครองชีพ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยจะปรับตัวขึ้นประมาณร้อยละ3.0และสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 6.0-7.0 สำหรับแนวโน้มค่าเอฟทีในรอบต่อไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอาจยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก เนื่องจากการปรับขึ้นในรอบนี้ยังต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังต้องติดตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก ซึ่งหากยังมีทิศทางขาขึ้น ก็อาจเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นไปด้วย ขณะที่อุปทานด้านพลังงานไฟฟ้าอยู่ในภาวะตึงตัว การประหยัดด้านอุปสงค์น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในขณะนี้
ค่า Ft 30 สตางค์ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งอยู่ที่ 57.45 สตางค์ ซึ่งส่วนต่างที่เหลือ 27.45 สตางค์/หน่วย รับภาระโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 19.05 สตางค์ต่อหน่วย (ประมาณ 10,200 ล้านบาท) และเงินเรียกคืนจากการลงทุนของ 3 หน่วยงานการไฟฟ้า 8.4 สตางค์ต่อหน่วย (ประมาณ 3,100 ล้านบาท ) ซึ่งค่าไฟฟ้า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้สะท้อนจากเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าซึ่งได้แก่ก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (301.28 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู จากเดิมที่ 294 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู)ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสภาพอากาศร้อนสูงผิดปกติ และภาคการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวก็มีส่วนให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้วยค่า Ft 30 สตางค์ที่กำลังจะปรับขึ้นในรอบเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2555 นี้จะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.2-10.9 สำหรับครัวเรือนทั่วไป (ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยต่อเดือน) และกิจการขนาดเล็กที่ใช้แรงดันต่ำกว่า 22 กิโลโวลท์ ทั้งนี้ หากคำนวณบนพื้นฐานของต้นทุนไฟฟ้าที่แท้จริงในระดับ 57.45 สตางค์หรือหมายถึงกรณีที่ผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับภาระเองทั้งหมดโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามาอุดหนุนแล้ว แล้วค่าไฟฟ้าที่แท้จริงจะปรับเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 15.7-20.8 จากค่าไฟฟ้าที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันเลยทีเดียว