โครงการนำร่อง RQFII: ห่วงโซ่ใหม่เชื่อมการไหลเวียนเงินสกุลหยวน
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 08 February 2016 11:48
- Hits: 1279
โครงการนำร่อง RQFII: ห่วงโซ่ใหม่เชื่อมการไหลเวียนเงินสกุลหยวน
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองในด้านการเงินระหว่างประเทศของจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อาจหนีไม่พ้นนโยบายการส่งเสริมการใช้เงินหยวนนอกประเทศจีน (RMB Internationalization) ซึ่งได้เห็นเป็นรูปธรรมไปแล้วในหลายด้าน เช่น ตลาดเงินหยวนนอกประเทศ (Offshore Market) ที่ฮ่องกง หรือโครงการชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลหยวน (Trade Settlement) อย่างไรก็ดี โครงการต่างๆ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกมากพอสมควรในการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ขณะเดียวกัน ในปี 2555 เศรษฐกิจจีนเดินมาถึงจุดที่ต้องเผชิญกับหลากความท้าทายอันเนื่องมาจากภาวะไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าสุทธิ (Capital Inflow) มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ทั้งการส่งออกที่อาจเติบโตชะลอลง รวมไปถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Inflow) ที่มีทิศทางชะลอตัว ด้วยเหตุนี้ การกำหนดกลไกเพื่อทำให้เกิดความสมดุลของการไหลเวียนเงินทุนจึงเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด โครงการนำร่อง RQFII (RMB Qualified Foreign Institutional Investors) ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2554 โดยอนุญาตให้กองทุนระดมเงินสกุลหยวนจากนักลงทุนทั่วไปในฮ่องกงเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ในจีนได้เป็นครั้งแรก โดยโครงการฯ ทำหน้าที่เป็นอีกช่องทางที่เปิดให้เงินทุนสกุลหยวนไหลเข้าประเทศจีน อีกทั้งยังช่วยเสริมนโยบายการใช้เงินหยวนนอกประเทศจีน (RMB Internationalization) ด้วยการเป็นอีกทางเลือกของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาด Offshore ที่สำคัญของเงินหยวน
แนวทางการเปิดช่องทางเคลื่อนย้ายเงินทุนของจีน...RQFII บทบาทใหม่ที่ช่วยเติมเต็มกลไกการไหลเวียนเงินหยวน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้เริ่มผ่อนคลายช่องทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเริ่มต้นจากช่องทางที่สำคัญต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ ได้แก่ บัญชีเดินสะพัด และการลงทุนโดยตรง จากนั้นจึงตามมาด้วยช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) เนื่องจากเป็นช่องทางที่อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวน และอาจนำไปสู่ภาวะไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ทางการจีนต้องค่อยๆ ผ่อนคลายช่องทางดังกล่าวโดยมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ของตัวนักลงทุนหรือบริษัทผู้ทำการเคลื่อนย้ายเงินทุน และในด้านปริมาณเงินที่ทำการเคลื่อนย้าย โดยในหลายกรณีต้องมีการขออนุญาตก่อนและมีการจำกัดโควต้าของนักลงทุนแต่ละราย