เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2555 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากแรงฉุดของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Sunday, 07 February 2016 13:42
- Hits: 2846
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2555 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากแรงฉุดของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2555 จะยังสะท้อนทิศทางการฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีก่อน อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวกลับสู่สถานการณ์ปกติของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังต้องใช้เวลา ทำให้ทิศทางการขยายตัวของภาคการผลิตและการส่งออก ยังไม่สามารถรักษาจังหวะที่มั่นคงไว้ได้ ขณะที่ ภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตซึ่งปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี เริ่มส่งผลกระทบต่อโมเมนตัมการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน แม้ว่าบรรยากาศความเชื่อมั่นโดยรวมในภาคเอกชน จะยังคงได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมซ่อมแซม-ฟื้นฟูความ เสียหายจากน้ำท่วม และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐก็ตาม ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การพลิกฟื้นกำลังการผลิตในภาคโรงงาน ซึ่งมีผลเชื่อมโยงมาที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ยังมีจังหวะที่ไม่มั่นคงนัก ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย ก็เผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นจากประเทศคู่แข่ง ดังนั้น แม้ว่าการใช้จ่ายในประเทศจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย กลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาส 1/2555 แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะลดต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่มองไว้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีประจำไตรมาส 1/2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเดิมที่มองว่า อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0 (YoY)
สัญญาณฟื้นตัวจากผลกระทบอุทกภัย...ยังมีต่อเนื่องในภาคการผลิต และการส่งออกสินค้าบางรายการ การฟื้นกำลังการผลิตยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ในช่วงหลังน้ำลด ช่วยทำให้ภาคธุรกิจมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ และเร่งฟื้นสายการผลิตกลับมา ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วง 4 เดือนดังกล่าว และสามารถยืนเหนือระดับ 100 (ที่สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 102.1 และ 100.9 ในดือนมี.ค. และเดือนก.พ. ตามลำดับ ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิต (ไม่ปรับฤดูกาล) ได้ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาที่ร้อยละ 68.07 ในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเหตุการณ์อุทกภัยแล้ว