การเป็นประธานอาเซียนปี 2557 : ก้าวสำคัญของพม่า และนัยยะต่อไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 26 January 2016 09:54
- Hits: 1654
การเป็นประธานอาเซียนปี 2557 : ก้าวสำคัญของพม่า และนัยยะต่อไทย
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 19 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 มีข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่งคือ การตกลงรับรองพม่าเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2557 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พม่าได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวหลังจากที่เคยสละสิทธิ์การเป็นประธานอาเซียนเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ การเป็นประธานอาเซียนปี 2557 ถือว่าเป็นวาระที่เร็วกว่ากำหนดเดิม 2 ปี และยังเป็นปีที่มีนัยสำคัญต่ออาเซียนค่อนข้างมาก คือ เป็นปีก่อนการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ขณะที่พม่ายังมีประเด็นอ่อนไหวในด้านการเมืองซึ่งหลายประเทศกำลังจับตามองพัฒนาการปฏิรูปทางการเมืองของพม่า
อย่างไรก็ดี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พม่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาเป็นลำดับ ตั้งแต่การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่าที่ประกาศใช้เมื่อปี 2551 หลังจากนั้นมีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 การปล่อยนักโทษการเมืองราว 200 รายเมื่อเดือนตุลาคม 2554 และล่าสุดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 รัฐสภาพม่าได้ผ่านร่างกฎหมาย “Peaceful Assembly and Procession Bill” ซึ่งมีสาระสำคัญในการอนุญาตให้พลเมืองชุมนุมประท้วงอย่างสงบได้โดยต้องแจ้งทางการพม่าอย่างน้อย 5 วันก่อนการชุมนุม และอยู่ระหว่างรอการลงนามจากประธานาธิบดีของพม่า สะท้อนถึงก้าวย่างในการปฏิรูปการเมืองของพม่าที่เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและองค์การสหประชาชาติที่มีกำหนดเยือนพม่าในเร็ววันนี้ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนวันที่ 1 ธันวาคม 2554 นี้) บ่งบอกความสนใจของประเทศมหาอำนาจของโลกต่อการปรับตัวของพม่า ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับพม่าอย่างต่อเนื่อง ควรจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อพัฒนาการของพม่าและนัยยะต่อประเทศไทย