การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัว ในช่วงเวลานับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Sunday, 17 January 2016 19:51
- Hits: 3776
การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัว ในช่วงเวลานับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
สัญญาณการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนเดือนพฤษภาคม 2554 ให้ภาพที่เป็นบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะหยุดชะงักในช่วงเดือนเมษายนที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในหลายภาคส่วนสะท้อนถึงผลกระทบ
จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับซัพพลายเชนในญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้จ่ายในรายการอื่นๆ นอกเหนือไปจากเครื่องชี้ในหมวดยานยนต์ ต่างก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมาในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับ
กิจกรรมการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
ทั้งนี้ บรรยากาศที่ดีขึ้นของการใช้จ่ายในประเทศ และรายได้ภาคเกษตรที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง เข้ามาช่วยชดเชยแรงบวกที่หายไปจากภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ยังคงคาดการณ์ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 น่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 3.0 (YoY) ที่ทำไว้ในช่วงไตรมาสแรก และผลของปัจจัยเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบ น่าจะหนุนให้เศรษฐกิจ
ไทยสามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณร้อยละ 3.4-4.8 (YoY) ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 แต่เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้ง ทิศทางเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มเงินเฟ้อ-ต้นทุน
การผลิต-พลังงานในประเทศที่อาจขยับสูงขึ้น ยังคงเป็นตัวแปรที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว
สถิติเกี่ยวกับยานยนต์หลายด้าน...สะท้อนปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่รุนแรงขึ้นในเดือนพ.ค. เหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2554 ส่งผลทำให้การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีซัพพลายเชน
ต่อเนื่องในหลายประเทศ รวมถึงในไทย ต้องเผชิญกับภาวะหยุดชะงักลงในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น ขณะที่ สต็อกชิ้นส่วนและรถยนต์สำเร็จรูปลดลงถึงระดับ
ต่ำสุด และเมื่อกระบวนการผลิตประสบกับภาวะผิดปกติ ยอดขายในประเทศและยอดส่งออก ก็ย่อมมีทิศทางที่ผิดปกติตามมาด้วยเช่นกัน