ส่งออกไปจีนเดือน พ.ค.54 : กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรโต 67.1% ...ท่ามกลางความแปรปรวนของอากาศในจีน
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Sunday, 17 January 2016 19:45
- Hits: 3874
ส่งออกไปจีนเดือน พ.ค.54 : กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรโต 67.1% ...ท่ามกลางความแปรปรวนของอากาศในจีน
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศจีนต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภัยแล้ง น้ำท่วม หน้าผาถล่ม ซึ่งแม้จะไม่ร้ายแรงเท่าเหตุการณ์แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ตามด้วย
เหตุสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมี.ค.2554 แต่ก็ทำให้หลายพื้นที่ในจีนได้รับความเสียหายไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะในบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกในเขตลุ่มแม่น้ำแยงซีที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในรอบ 50 ปี
ขณะที่พื้นที่บางส่วนในทางตอนใต้ของจีนก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและโคลนถล่ม ทำให้พื้นที่ทำการเกษตร และพื้นที่ทำประมงน้ำจืดในหลายมณฑลของจีนได้รับความเสียหายอย่างหนัก นอกจากนี้
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็เดินเครื่องได้ไม่เต็มที่นัก เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าในจีนลดลง จนทางการจีนต้องดำเนินมาตรการตัดไฟ ดังนั้น จีนจึงต้องหันมาพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลาย
เดือนที่ผ่านมา สะท้อนจากตัวเลขการนำเข้าของจีนจากตลาดโลกในเดือน พ.ค.2554 ที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 28.4(YoY) จากระดับร้อยละ 22 (YoY) ในเดือนเม.ย.2554 ซึ่งไทยเองก็สามารถส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นต่อ
เนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 21.2 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 67.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าเกษตร...โตเกินร้อยละ 50(YoY) การส่งออกไทยไปจีนเดือน พ.ค.2554 ขยายตัวร้อยละ 21.2(YoY) ใกล้เคียงกับร้อยละ 21 ในเดือนก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจภายในของจีนจะ
มีสัญญาณเติบโตเชื่องช้าลงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยรายการสินค้าส่งออกที่มีความโดดเด่นในเดือนนี้ก็คือ อุตสาหกรรมเกษตรที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 67.1 (YoY) นำโดยน้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี เครื่องเทศสมุนไพร และสิ่งปรุงรส เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรกรรมก็เติบโตถึงร้อยละ 51.2(YoY) ซึ่งยังคงนำโดยสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็น
ผลจากการที่พื้นที่เกษตรและทำการประมงน้ำจืดในหลายมณฑลของจีนได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม ประกอบกับการที่ภาครัฐมีมาตรการตัดไฟ
เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มีประมาณ1 ใน 5 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในจีน เผชิญกับภาวะแม่น้ำที่แห้งขอด จนส่งผลให้ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงประมาณร้อยละ 20 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้ง
แหล่งที่พักอาศัยและโรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลายแห่ง