แนวโน้มการค้าไทยไตรมาส 2 … ส่งออกชะลอ แต่นำเข้ายังสูง กดดันดุลการค้าอาจขาดดุลรายไตรมาสครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 12 January 2016 14:50
- Hits: 1686
แนวโน้มการค้าไทยไตรมาส 2 … ส่งออกชะลอ แต่นำเข้ายังสูง กดดันดุลการค้าอาจขาดดุลรายไตรมาสครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2554 ชะลอตัวลง และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาสที่ 2/2554 โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ในด้านการนำเข้า ความต้องการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุนยังคงมีระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสที่ 2/2554 ขาดดุลรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมส่งออกที่ประสบปัญหาด้านอุปทานดังกล่าวน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คงต้องขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาของการคลี่คลายปัญหาการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า
n การส่งออกเดือนเมษายนชะลอตัวจากการหดตัวของการส่งออกรถยนต์
จากการรายงานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2554 เติบโตร้อยละ 24.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 30.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกลดลงมาที่ 17,564 ล้านดอลลาร์ฯ จากระดับที่ทำสถิติมูลค่าส่งออกรายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21,259 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า
การชะลอตัวของการส่งออกดังกล่าวเป็นไปตามคาดหมาย โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นประสบปัญหา และมีผลต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมในไทยที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนหลักที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังที่เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกสินค้าหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบในเดือนเมษายนหดตัวลงร้อยละ 13 ซึ่งเป็นการติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน อย่างไรก็ดี ภาพรวมของสินค้ากลุ่มอื่นๆ ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหากไม่รวมทองคำที่การส่งออกลดลงในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังคงขยายตัวร้อยละ 28.6 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.3 สินค้าสำคัญที่มีการส่งออกขยายตัวดีขึ้น เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว หนังสือและสิ่งพิมพ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น