ค่าครองชีพสูง และต้นทุนการผลิตแพง...โจทย์ 2 ด้านของปัญหาเงินเฟ้อไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 05 January 2016 22:12
- Hits: 8061
ค่าครองชีพสูง และต้นทุนการผลิตแพง...โจทย์ 2 ด้านของปัญหาเงินเฟ้อไทย
จากรายงานดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2554 ของกระทรวงพาณิชย์ บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือนที่ร้อยละ 4.04 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงาน) ทะยานขึ้นมาที่ร้อยละ 2.07 (YoY) ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 30 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระดับราคาสินค้าในประเทศยังคงมีทิศทางเป็นขาขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถรักษาแรงส่งของการขยายตัวไว้ได้ (Demand-Pull Inflation) ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของราคาพลังงานในตลาดโลก สถานการณ์ต้นทุนของผู้ประกอบการ และผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ยังคงเป็น “ตัวแปรหลัก” ที่ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานเพิ่มสูงขึ้น (Cost-Push Inflation)
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก และความแปรปรวนของปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ก็เป็น 2 ตัวแปรหลักที่เพิ่มภาระต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุด หากแรงกดดันต่อต้นทุนในการประกอบการเพิ่มมากขึ้น การขยับขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภคก็อาจเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า การทยอยขยับราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ตลอดจนทิศทางราคาอาหารและพลังงานที่อาจจะยืนระดับสูงต่อเนื่อง น่าที่จะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพยังคงเป็นโจทย์เศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงหลายเดือนข้างหน้า