KR-ECI ขยับลงครัวเรือนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 11 April 2022 18:51
- Hits: 1493
KR-ECI ขยับลงครัวเรือนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่สามารถเจรจากันได้ และยังไม่มีท่าทีหรือจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งที่ชัดเจนส่งผลให้ระดับราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญอยู่ในระดับสูง ระดับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นได้กดดันภาวะดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) มี.ค.65 ปัจจุบันขยับลงอยู่ที่ 33.4 จาก 33.9 ในเดือนก.พ. ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในระดับต่ำที่ 36.1 จาก 36.0 ในเดือนก.พ.65
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการจ้างงานพบว่าปัจจุบันตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แม้อัตราการเลิกจ้างในเดือนมี.ค.65 ปรับลดลงเล็กน้อย แต่การลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT) และการชะลอรับพนักงานใหม่ยังปรับสูงขึ้น บ่งชี้ถึงระดับรายได้ของครัวเรือนยังไม่สามารถกลับมาสู่ในระดับปกติ ขณะที่สถานการณ์ราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น มาตรการบรรเทาค่าครองชีพต่างๆ จากภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเมื่อสอบถามครัวเรือนถึงมาตรการภาครัฐว่าควรออกมาในรูปแบบใดพบว่า ครัวเรือนส่วนมาก อยากให้มีการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น (39.2%) ขณะที่ 23.9% อยากให้มีการต่อมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 หลังมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 จะหมดลงในวันที่ 30 เม.ย. 65
ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากสถานการณ์สินค้าราคาสูงโดยภาครัฐจะสิ้นสุดการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหลังสิ้นเดือนเม.ย.65 ขณะที่ราคาก๊าซและค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากนี้จึงอาจจะเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งสูงเหนือระดับ 25,000 รายต่อวัน (ไม่รวม ATK) ขณะที่ยังต้องติดตามในช่วงหลังเทศกาลที่กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีโอกาสเพิ่มขึ้นราว 50,000 – 100,000 รายต่อวัน
A4372