- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 03 January 2018 22:33
- Hits: 4576
SCB EIC คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 ทยอยฟื้นตัวไปที่ 1.1% หลังน้ำมันขยับสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 61 จะทยอยฟื้นตัวขึ้นไปอยู่ที่ 1.1%YOY โดยปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2018 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 58 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลจาก 54 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี 60 ประกอบกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุราที่จะยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี
อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ยังมีแรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออกสู่ตลาดจำนวนมาก ตามแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตในปีนี้
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ในปี 61 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนนัก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ จะถูกปรับราคาขึ้นได้อย่างช้าๆ
อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 0.78%YOY ปรับตัวลงจากเดือนก่อนที่ 0.99%YOY ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 60 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.66%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 0.62%YOY จาก 0.61%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานปี 60 อยู่ที่ 0.55%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.ลดลงเล็กน้อยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยายตัวน้อยลงที่ 18.8%YOY จาก 34.7%YOY ในเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาอาหารสดยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ -0.9%YOY โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่ราคาผักและผลไม้ขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.22%YOY
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งยังเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในเดือน ก.ย.ส่งผลให้ราคาหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 5.8%YOY ประกอบกับการปรับอัตราค่าไฟฟ้า Ft รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.ขึ้น ก็ยังมีผลให้ดัชนีราคาหมวดไฟฟ้าในที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น 4.2%YOY
SCB EIC คาดปี 61 ส่งออกโต 4.2% ได้ปัจจัยหนุนด้านปริมาณเป็นหลักหลังศก.ประเทศคู่ค้าเติบโตดี, นำเข้าโต 7.2%
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปี 2561 จะขยายตัวที่ 4.2%โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านปริมาณเป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้งที่มีแนวโน้มเติบโตดีจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยให้เติบโตได้ต่อ นอกจากนี้ อุปสงค์จากภาคครัวเรือนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มอาเซียนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีนโยบายกระจายรายได้ ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยขยายตัวได้สูงต่อเนื่องจากปี 2560
อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกในระยะต่อไปอาจถูกกระทบจากราคาน้ำมันที่จะไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่สูงมากนัก ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของการส่งออกทั้งหมด มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ในขณะเดียวกันสินค้าโภคภัณฑ์อาจถูกกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่มีแนวโน้มหดตัว และค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก
ทั้งนี้ การส่งออกไทยในปี 2561 ที่อาจเติบโตชะลอลงจากปี 2560 สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของภาคส่งออกในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในปี 2561 ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 5.1% ชะลอลงจากปี 2560 ที่เติบโตราว 7.1% จากผลสำรวจการคาดการณ์ของ Asia Pacific Consensus ณ เดือน ธ.ค.60
สำหรับ การนำเข้าทั้งปี 2561 นั้น SCB EIC คาดว่าจะขยายตัวที่ 7.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่จะไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่สูงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2560
ส่วนมูลค่าการส่งออกของปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวที่ 10% และการนำเข้า ขยายตัวที่ 14% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 8.5% และ 13.0% ตามลำดับ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึง 4% ในปีนี้จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8%
ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพ.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ 13.4% นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ที่เติบโต 16% และ 41% ตามลำดับ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตตามเศรษฐกิจโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 23% และ 13% ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ขยายตัวได้กว่า 50% จากการส่งออกไปยังแคเมอรูน แอฟริกาใต้ เบนิน และบังคลาเทศที่เริ่มมีการสั่งซื้อข้าวจากไทยหลังจากหยุดสั่งซื้อมากว่า 5 ปี ทั้งนี้ เมื่อหักการส่งออกทองคำที่หดตัวกว่า 73% การส่งออกไม่รวมทองคำในเดือน พ.ย.ขยายตัวได้สูงถึง 15.5% สะท้อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการส่งออกสินค้า สำหรับมูลค่าการส่งออกรวมใน 11 เดือนแรกของปีเติบโตอยู่ที่ 10.0%
ส่วนมูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 13.7% จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 21% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัว 22% ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ สินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) เพิ่มขึ้นกว่า 7% สะท้อนแนวโน้มการลงทุนในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ การนำเข้ารวมใน 11 เดือนแรกของปีเติบโต 14.5%
SCB EIC มองปี 61 ต้นทุนกการระดมทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มหลัง FED ขึ้นดอกเบี้ย-คาดกนง.ยังคงดอกเบี้ยหนุนศก.ฟื้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 3 ครั้งในปี 61 หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 60 ที่ประชุม FOMC มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ขึ้น 25 bps ไปอยู่ที่ช่วง 1.25 - 1.50% ทั้งนี้ คณะกรรมการของ FOMC ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปี 61 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ในช่วง 2.0 - 2.25% ณ สิ้นปี 61
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เสร็จสิ้นในวันที่ 13 ธ.ค.60 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดาวน์โจนส์ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 0.3% ดัชนี ตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 ทรงตัว ขณะที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดอ่อนค่าลง 0.7% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.36% สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเช้าวันนี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากราคาปิดที่ 0.1% ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง
"ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องทั้งในด้านอัตราการว่างงานที่ลดลงจนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 17 ปี การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งผลของนโยบายการปฏิรูปภาษีที่คณะกรรมการ FOMC บางส่วนมองว่าอาจมีส่วนช่วยสนับสนุนแนวโน้มเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Fed ยังคงมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในปีนี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวและยังเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะฟื้นตัวได้ ดังนั้น อีไอซีจึงมองว่า Fed จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นได้ต่อเนื่องในปี 61 โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งตามประมาณการการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot)" SCB EIC ระบุ
SCB EIC ระบุว่า จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการลดขนาดงบดุลซึ่งจะมีผลให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจทยอยลดลง และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอีไอซีประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.60% และ 2.75% ณ สิ้นปีไตรมาส 1 และสิ้นปี 61 ตามลำดับจากปัจจุบันที่ 2.43% ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ต้องเผชิญต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง แต่อาจไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากนัก เนื่องจากนักลงทุนได้คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว ดังนั้น ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จึงอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ
พร้อมคาดว่า ธปท. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 61 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มสูงขึ้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะสูงกว่าที่คาดอยู่ที่ 4.3%YOY ในไตรมาส 3 แต่การขยายตัวดังกล่าวยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลดีจากอุปสงค์จากต่างประเทศ ได้แก่ การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยยังคงอ่อนแอ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อไป
อินโฟเควสท์