- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 01 August 2017 19:49
- Hits: 2385
สำรวจสถานะ 'การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16' กุญแจสำคัญสู่ทุกเป้าหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
สำรวจสถานะและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 16 กุญแจสำคัญนำทุกเป้าหมายประสบผลสำเร็จ แต่จะบรรลุผลได้ ต้องเพิ่มบทบาททุกภาคส่วน และเปิดกระบวนการมีส่วนร่วม อีกทั้งปรับปรุงด้านการจัดเก็บข้อมูลเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาและการจัดทำตัวชี้วัดเป้าหมาย
องค์การสหประชาชาติ ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals – SDGs) มุ่งเน้นให้ทุกประเทศมองการพัฒนาครบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญและเป็นเป้าหมายพื้นฐาน คือ เป้าหมายที่ 16 ที่มุ่งส่งเสริมสังคมสงบสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และมีสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมทุกระดับ
ทีมจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชวน คุณจิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล นักวิจัยทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าโครงการวิจัย “การสำรวจสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับเป้าหมายที่ 16” เปิดเล่มรายงาน พร้อมพูดคุยถึง ที่มาที่ไปของ SDGs และสำรวจสถานะว่าการพัฒนาของไทยในเป้าหมายที่ 16 เป็นอย่างไร และควรยกระดับตัวชี้วัดต่างๆ อย่างไร
SDGs คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
จิรวัฒน์: SDGs (The Sustainable Development Goals) คือ กรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกรอบที่ใช้พัฒนาร่วมกันทั่วโลก โดยตั้งโจทย์ว่าทุก ๆ ประเทศจะพัฒนาประเทศกันอย่างไรให้ยั่งยืน โดย SDGs เป็นตัวลูก ที่ต่อมาจาก MDGs (The Millennium Development Goals) ซึ่งเริ่มใช้ปี 2015 – 2030 มีระยะเวลาประมาณ 15 ปี
SDGs ไม่ได้อยู่ในรูปของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ได้บังคับหรือผูกมัดให้ประเทศต่างๆ ต้องทำตาม แต่การจะบรรลุผล จะต้องมีตัวชี้วัดบางอย่าง เพื่อกำกับตรวจสอบประเทศนั้น ๆ ว่ามีความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน
เพื่อให้เห็นว่าอะไรที่ยังเป็นข้อจำกัดอยู่ อะไรบ้างที่จะนำมาปรับปรุง และทำข้อเสนอแนะ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นพัฒนาตัวเอง สามารถบรรลุเป้าหมายกรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
เป้าหมายของการพัฒนามีมากน้อยแค่ไหน
จิรวัฒน์: ปัจจุบันมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย หากแบ่งกลุ่ม สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) สังคม (PEOPLE) (เป้าหมายที่ 1 2 3 4 และ 5) 2) เศรษฐกิจ (PROSPERITY) (เป้าหมายที่ 7 8 9 10 และ 11) 3) สิ่งแวดล้อม (PLANET) (เป้าหมายที่ 6 12 13 14 และ 15) 4) สันติภาพ สถาบันที่เข้มแข็ง และความยุติธรรม (PEACE) (เป้าหมายที่ 16) และ 5) หุ้นส่วนการพัฒนา (PARTNERSHIP) (เป้าหมายที่ 17)
เป้าหมายที่ 16 โฟกัสไปที่เรื่องอะไร
จิรวัฒน์: เป้าหมายที่ 16 จะเน้นไปที่ 3 เสาหลัก คือ การสร้างสังคมที่สงบสุข การสร้างกระบวนการยุติธรรม และการมีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่ 16 เป็นเป้าหมายพื้นฐานสำคัญ ที่นำไปให้เป้าหมายอื่นๆ ใน SDGs บรรลุผลได้ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศในเป้าหมาย 5 หรือ เรื่องขจัดความหิวโหย หรือเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ มีการคำนึงถึงธรรมาภิบาล มีการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือการลดการทุจริต ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่เป้าที่ 16 หากไม่มีหรือไม่แข็งแรงพอ การดำเนินการเป้าหมายอื่นๆ ก็อาจล่าช้าได้ เพราะถ้าปราศจากเครื่องมือเหล่านี้ หรือปราศจากการเคลื่อนไหวของประชาชน ก็ย่อมขาดการมีส่วนร่วมในการผลักดันตรวจสอบการทำงานภาครัฐ ให้มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ทั้ง 3 เสาหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมที่สงบสุข การสร้างกระบวนการยุติธรรม และการมีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีเป้าประสงค์แตกย่อยออกไปอีก ประมาณ 10 เป้าประสงค์ เช่น ในเรื่องการมีสังคมสงบสุข จะมีประเด็นเรื่อง การลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้อง การหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ การข่มเหงต่าง ๆ การขจัดการคอร์รัปชัน
หรือถ้าเราพูดถึงกระบวนการยุติธรรม ก็เกี่ยวข้องกับการมีหลักนิติรัฐ การสร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม และ มีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ การเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนการขจัดการเลือกปฏิบัติ ที่จะทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมสะดวก รวดเร็ว ดีมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้คือ ถ้าภาครัฐมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบและโปร่งใส ตลอดจนเป็นองค์กรที่มีอิสระตามหลักการปารีส (หลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน) แล้ว ก็จะทำให้สถาบันนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งตัวชี้วัดต่าง ๆ นี้ มาจากการรวบรวมข้อเสนอจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ นักปฏิบัติ หรือผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ว่าจะหาตัวชี้วัดอย่างไร เพื่อบรรลุผล
การใช้ตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งสามารถใช้คลอบคลุมประเด็นใหญ่ได้ทั้งหมดจริงหรือ
จิรวัฒน์: แน่นอนตัวชี้วัดใดก็ตาม คงไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกประเด็น ดังนั้น ต้องผสมบางอย่าง เช่น การลดความขัดแย้งในเป้าหมายนี้ ซึ่งตัวชี้วัดพิจารณาจาก คดีอาชญากรรม แต่เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง กลับมีบริบทมากกว่านั้น และแต่ละประเทศก็ให้นิยามต่างกัน
สำหรับ ประเทศไทยมีทั้งเรื่องความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ การแย่งชิงทรัพยากร หรือ การสร้างความเกลียดชังในสังคมด้วย Hatespeech เป็นต้น กรณีแบบนี้ก็ไม่ได้ปรากฏเป็นตัวชี้วัดในระดับสากล อันนี้จึงเป็นข้อจำกัดว่า ประเทศไทยเองควรนำเอาตัวชี้วัดสากลนี้มาปรับใช้ทั้งหมดเลยหรือควรมองว่า มีตัวชี้วัดอะไรบ้างที่ไทยเองไม่ได้ตามสากล และตัวชี้วัดอะไรเป็นลักษณะเฉพาะของไทย ที่เอามาเทียบเคียงระดับสากลได้ด้วยหรือเปล่า
พูดถึงตัวชี้วัดต่างๆ และข้อมูลสำหรับทำตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย สถานะเรื่องของข้อมูลในไทยเป็นอย่างไรบ้าง
จิรวัฒน์: สถานะข้อมูลดูได้จาก 23 ตัวชี้วัด ใน 10 เป้าประสงค์ ของเป้าหมายที่ 16 และหน่วยงานภาครัฐอ้างว่ามีข้อมูลอยู่แล้วจำนวน 10 ตัวชี้วัด แปลว่า 13 ตัวชี้วัดไม่มีข้อมูลเลย และ 10 ตัวชี้วัดดังกล่าวก็ไม่รับรองเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ในระดับสากล หรือเป็นข้อมูล proxy หรือข้อมูลที่ใช้วัดผลได้ในระดับประเทศเท่านั้น
คำตอบนี้ตอบยากต้องอาศัยการตรวจสอบข้อมูลเสียก่อน หรือกรณี ที่ 13 ตัวที่ไม่มี จะเอาข้อมูลภาครัฐมาเทียบเคียงได้หรือเปล่า เพราะข้อมูลภาครัฐไม่ได้เปิดเผยขนาดนั้น
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลอยู่แล้วส่วนหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดหลายประการ เพราะบางข้อมูลไม่ได้จัดทำตลอด ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ทุกปี ทำให้การจัดเก็บข้อมูลอาจจะเป็นการเก็บ 2-5 ปีครั้ง หรือขาดแคลนบุคลากรที่จะทำการสำรวจ และปัญหาหนึ่งเราเห็นว่าภาครัฐเก็บข้อมูลตาม KPI ขององค์กรนั้นๆ นั่นหมายความว่า เช่น หน่วยงานนั้นรับผิดชอบเรื่องต่อต้านทุจริต เราจะพบว่า ข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบเกี่ยวกับทุจริตนั้นมีอะไร แต่การทุจริตไม่ได้เกิดเฉพาะในวงการภาครัฐอย่างเดียว ถ้าพูดถึงเอกชน ก็อาจไม่ได้มีการจัดเก็บก็ได้ ดังนั้นหมายความว่าข้อมูลที่ได้มาก็อาจจะไม่ครบถ้วน
ขณะเดียวกัน การจัดเก็บก็ไม่ละเอียดมากพอ เช่น ไม่ได้มีการจำแนก เพศ อายุ หรือลักษณะสำคัญของข้อมูลนั้น ๆ เช่น ถ้าเราพูดถึงความรุนแรงทางเพศ ข้อมูลนั้นอาจไม่ได้บันทึกว่า สัดส่วนเหยื่อที่เป็นเด็กเท่าไหร่ เป็นหญิงเท่าไหร่ ชายเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอะไร เช่น อาจเป็น พ่อลูก ภรรยาสามี หรืออื่น ๆ กรณีแบบนี้ไม่ได้มีการจำแนก ทำให้การวัดผลนั้นไม่เป็นไปในระดับสากล และไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ว่าจำนวนเหยื่อที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุจากอะไรเป็นหลัก เพื่อหาทางแก้ไขให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
เรายังค้นพบว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานมันก็ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น เช่น ที่กล่าวไป คือการจัดเก็บข้อมูลตรวจสอบทุจริต ไม่ได้จำกัดแค่ภาครัฐอย่างเดียว หลายภาคส่วนเข้ามามีบทบาท เช่น องค์กร ACT ก็มีการเก็บข้อมูลบ้าง แต่ระหว่างภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือกันเท่าไหร่ ทุกคนเน้น KPI ของตัวเอง ไม่เน้นภารกิจหลัก ถ้าเราเอาภารกิจตั้งแล้วแสวงหาว่าหน่วยงานไหนมีภารกิจเหมือนกัน แล้วแบ่งปันทรัพยากรกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มันก็น่าจะดีกว่า ข้อเท็จจริงคือต่างฝ่ายต่างจัดเก็บข้อมูล
หรือแม้แต่ งานวิจัยฉบับนี้ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ก็เห็นว่า หน่วยงานภาควิชาการควรเข้ามามีบทบาทด้วย ถ้าให้ภาครัฐทำอย่างเดียวอาจไม่ครบถ้วน จึงน่าจะช่วยให้ข้อเสนอแนะไปถึงเรื่องจัดทำข้อมูล จัดเก็บที่มีประสิทธิภาพด้วย
ในด้านข้อมูลของการสร้างสังคมที่สงบสุข สถานะเป็นอย่างไรบ้าง
จิรวัฒน์: เท่าที่พบ คือรัฐจัดเก็บอยู่แล้ว เช่น อาชญากรรมก็ สำนักงานตำรวจก็มีบันทึก แต่ปัญหาคือ การเข้าถึงข้อมูล ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก นี่คือข้อจำกัดงานวิจัย เรารู้ว่ามีข้อมูล แต่ไม่สามารถเอามาวิเคราะห์ได้ เลยไม่รู้ว่าข้อมูลที่มีสอดคล้องกับสากลหรือเปล่า หรือรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลนั้นมาตรฐานหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดอยู่
ที่สำคัญเรื่องนี้ก็ไม่ควรให้หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทตรงนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว ตอนนี้มีหลายส่วน รวมถึงภาคประชาสังคม ที่มาบอกว่าภาครัฐต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายต่างๆใน SDGs ในภาคเอกชนก็จับมือกันเพื่อบอกต่อสังคมว่า เราจะเป็นผู้ประกอบการที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มันก็สะท้อนว่ามันมีพื้นที่ที่คนอื่นๆ ก็มีบทบาทมาช่วยกันกับภาครัฐในเรื่องนี้มากขึ้น
สรุปว่าถ้าข้อมูลไม่มีคุณภาพ ตัวชี้วัดนั้นออกมาก็ไม่คุณภาพ
จิรวัฒน์: ตัวชี้วัดนั้นก็อาจได้ผลไม่สมบูรณ์แม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันต้องอาศัยข้อมูลอื่นมาช่วย คือข้อมูลจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่เขาจัดเก็บอยู่แล้ว หรือข้อมูล proxy ที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ หรือในกรณีที่ไม่มี proxy เลย แต่อยากพัฒนาข้อมูลอื่น ๆ ที่อยากนำมาเสริม กับสิ่งที่มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่อาจไม่ครอบคลุม ก็อาจต้องผลิตตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว เรียกว่า ‘ตัวชี้วัดหนุนเสริม’ เพื่อให้ตัวชี้วัดที่มีอยู่แล้ว มันให้ค่าถูกต้องแม่นยำมากขึ้น
ถ้าเป้าหมายของการมีหลักนิติรัฐที่มั่นคง และให้ประชาชนเองมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ เราจะพัฒนาตัวชี้วัดให้สมบูรณ์ขึ้นได้อย่างไร
จิรวัฒน์: อันนี้ไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะตัวชี้วัดที่สากลกำหนด ไม่ได้ไปตอบโจทย์เป้าประสงค์ได้ทั้งหมด เช่น หลักนิติรัฐ ความเป็นนิติรัฐที่สมบูรณ์ เค้าวัดแค่สัดส่วนของเหยื่อความรุนแรงซึ่งได้ถูกรายงานการกระทำอันรุนแรงนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ และสัดส่วนของจำนวนผู้ต้องขังที่ศาลยังไม่พิพากษาต่อจำนวนนักโทษทั้งหมดเท่านั้น
ในขณะที่เวลาเราพูดหลักนิติรัฐเราไม่ได้ดูแค่ 2 เรื่องนั้นเท่านั้น แต่เราดูปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น การจำกัดอำนาจรัฐ การมีรัฐบาลเปิดกว้าง ความมีประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอาญา ศาลแพ่ง และการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดถือเป็นองค์ประกอบการมีนิติรัฐที่ดี สมบูรณ์ แต่ตะวันตกไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดครอบคลุมเรื่องเหล่านี้เลย
แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะมันมีแรงผลักดันต่างๆที่ ไม่อยากให้มีตัวชี้วัดแบบนี้ เพราะการวัดผลในเรื่องนี้เข้าไปด้วย มันก็สะท้อนว่าในประเทศนั้นๆ ยังมีความอ่อนแอในเรื่องนิติรัฐอยู่ และอาจจะมีผลทางการระหว่างประเทศก็เป็นได้
ทำอย่างไรให้การจัดเก็บข้อมูลจากภาครัฐมีคุณภาพมากขึ้น
จิรวัฒน์: ถ้าหน่วยงานนั้นจัดเก็บข้อมูลแต่ยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร ก็ต้องมีการอบรม ซึ่งเข้าใจว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่องจัดเก็บข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพ คำว่ามีประสิทธิภาพคือ ต้องมั่นใจว่ามีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรให้ทุกปี ต้องมีบุคลากร และให้มีการสำรวจทั่วประเทศ และมีการจำแนกข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ว่าใครเป็นกลุ่มไหนอย่างไร เพื่อทำให้เห็นผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น รวมถึงการบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆด้วย
แต่การที่แต่ละคนทำข้อมูลเรื่องเดียวกันแต่หลากหลายมากเลย แล้วจะใช้ข้อมูลของใครดี ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการเกิดอยู่ในเป้าหมายที่ 16 ซึ่งรัฐรองรับการเกิดของคนในทะเบียนสูติบัตร และหน่วยงานที่รับแจ้งการเกิดคือ กรมการปกครอง เขาก็บอกว่าข้อมูลนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่วิธีการรับแจ้งคือ ให้คนเดินไปหาเพื่อขอแจ้ง คำถามคือ คนบนพื้นที่สูง ที่เข้าถึงไม่ได้ แปลว่าเขาอาจไม่ได้แจ้งใช่ไหม แสดงว่า ก็ต้องมีคนที่ไม่ได้รับรองการเกิดตามสูติบัตร
ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศ หรือยูนิเซฟ ที่จัดทำรายงานสถานการณ์เด็ก เขาพบว่าตัวเลขของกรมการปกครอง กับตัวเลขยูนิเซฟมีไม่ตรงกัน เวลาเป็นผู้ใช้ ก็ต้องมานั่งดูแล้วว่า ตัวเลขเดียวกัน แต่ให้ผลไม่เหมือนกัน ก็ต้องมีการคัดเลือกข้อมูลที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด มาเป็นตัวใช้
องค์การสหประชาชาติจะมีวิธีตรวจสอบสิ่งที่เราพยายามทำได้อย่างไร
จิรวัฒน์: สหประชาชาติ มีกลไก อย่างเช่น กลไกการทบทวนสถานการณ์รายประเทศโดยสมัครใจ หรือ Voluntary National Reviews (VNR) ซึ่งเป็นกลไกทบทวนกับแต่ละประเทศโดยสมัครใจว่าโดยรอบ 3 ปีที่ผ่านมา คุณบรรลุเป้าหมาย SDGs อะไรบ้าง ซึ่งประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกที่อาสาสมัครว่าจะขอ VNR ตัวเอง มันเลยมีอะไรบางอย่างผลักดันภาครัฐให้พยายามให้คุณค่ากับเรื่อง SDGs
และการทบทวนตัวเองเพื่อเข้าสู่เวทีสากล จะทำให้เราถูกจับตาว่าทำจริงตามที่ประกาศไว้หรือไม่ และสุดท้ายจะมีข้อเสนอแนะจากหลาย ๆ ประเทศว่าคุณควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น แม้ว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจไม่เห็นผลมากนัก แต่ก็เป็นแรงกดดันระหว่างประเทศต่อประเทศต่าง ๆได้บ้าง เหมือน กรณี IUU ที่ถูกแบนสินค้าที่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ไทยต้องมาแก้ไขเรื่องนี้ในธุรกิจประมง เพื่อให้ต่างชาติซื้อของเรา เพื่อให้รายได้ไม่หายไป ฉะนั้นถ้ามันจะมีแรงขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าในระดับระหว่างประเทศ เขาจะเอาเรื่อง SDGs มาเป็นหนึ่งในเรื่องของการ sanction หรือไม่
นี่ไม่ได้พูดถึงแค่ประเด็นเศรษฐกิจอย่างเดียว หลาย ๆ ประเด็นเราพบว่าอย่างเช่น การตัดความช่วยเหลือ เช่น ไทยเองก็กำลังพัฒนา หลายโครงการยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐต่างประเทศ เช่น การอุดหนุนเงินจัดตั้งโครงการต่าง ๆ ถ้าเรายังมีข้อค้นพบว่าไม่ได้ทำในทางที่ควรจะเป็น มันจะมีเรื่องการตัดความช่วยเหลือเหล่านี้ ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาศัยการสนับสนุนจากตรงนั้น ต้องชะงักไป ไม่ได้รับการแก้ไขไปได้ด้วยเหมือนกัน
ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรกับ SDGs
จิรวัฒน์: จริงๆ แค่ประชาชนไปมีบทบาทในเรื่องการทำหน้าที่ของตนเอง ในฐานะพลเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การมีส่วนร่วมเรื่องการแสดงความคิดเห็น หรือการเรียกร้องให้รัฐมีธรรมาภิบาลที่ดี ภาครัฐปรับระบบการทำงานของตัวเอง ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดคอร์รัปชัน ถ้าเรื่องแบบนี้ได้รับการพัฒนา ข้อมูลที่ออกมามันก็จะได้รับผลไปด้วย
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้มาจากโครงการวิจัย “การสำรวจสถานะของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทประเทศไทย และทางเลือกมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และกฎหมายสำหรับ เป้าหมายที่ 16: การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึง ความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
นายจิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล นักวิจัยทีดีอาร์ไอ และหัวหน้าโครงการวิจัย “การสำรวจสถานะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับเป้าหมายที่ 16”
https://tdri.or.th/2017/07/interviews-sdgs-goal-16/