- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Friday, 28 July 2017 13:37
- Hits: 3225
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 แรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. คาดเศรษฐกิจไทย ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลก แนวโน้มรายได้ภาคเกษตรขยายตัวจากราคาสินค้าเกษตรและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ส่งปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจเกษตรไทย ขยายตัวร้อยละ 3.4 ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ”ศูนย์วิจัยและพัฒนาธ.ก.ส.ได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.8-3.8) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวจากการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการต่างๆตามนโยบายรัฐ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวตามแนวโน้มฐานรายได้ในภาคเกษตรที่ขยายตัวจากการผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรและภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัว ส่วนรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ด้านเศรษฐกิจเกษตรไทย ปี 2560 ศูนย์วิจัยและพัฒนาธ.ก.ส.คาดการณ์ว่า แนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 – 3.8) จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่มีแนวโน้มขยายตัว รวมทั้งระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัวดีขึ้น อาทิ ปาล์มน้ำมัน ประกอบกับค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง นับเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า สาขาพืช คาดว่าขยายตัว เนื่องจากในครึ่งแรกของปี 2560 สภาพอากาศและปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น การส่งเสริมให้ทำการเกษตรในพื้นที่เหมาะสม มีการใช้พันธุ์ดี รวมถึงพัฒนาแหล่งน้ำ จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก สาขาปศุสัตว์ คาดว่าขยายตัว เนื่องจากภาครัฐเน้นสนับสนุนการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล
อาทิ ลดจำนวนโรงฆ่าสัตว์เถื่อนภายในประเทศ ปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ให้เข้าสู่มาตรฐาน GMP และมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศที่เข้มงวด สาขาประมง คาดว่าขยายตัว ตามการขยายตัวของผลผลิตกุ้ง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ อินเดียและเอกวาดอร์ ประสบปัญหาโรคระบาด ทำให้ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นำเข้ากุ้งจากไทยมากขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าขยายตัว เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเกษตรไทย อาจมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวลดลงจากปีก่อน เนื่องจากสหรัฐฯมีนโยบายเศรษฐกิจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อลดการขาดดุลการค้า อาจส่งผลทำให้จีนนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบจากไทยลดลง ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส.คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี2560 สินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย สุกรและกุ้งขาวแวนนาไม สินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ”