- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 12 April 2017 10:44
- Hits: 9347
ทีดีอาร์ไอ สะท้อนมุมมองกรณีถอยคำสั่ง ‘ห้ามนั่งท้ายกระบะ’ เสนอปรับแนวคิดความปลอดภัยทางถนน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ สะท้อนมุมมอง รัฐถอยคำสั่ง ‘ห้ามนั่งท้ายกระบะ’ ตอกย้ำ การบังคับและใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหา ทั้งยังมีแรงต้านจากสาธารณะ เผยตัวเลขสถิติอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่ 57 มีแต่เพิ่มขึ้น ตั้งข้อสังเกตมาตรการไม่ตรงจุด เสนอปรับแนวคิดลดอุบัติช่วงเทศกาล รวมทั้งก่อนและหลัง 7 วันอันตราย พร้อมทางแก้ยกระดับความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนและคุณภาพชีวิตประชาชนระยะยาว
การถอยคำสั่ง มาตรา 44 ห้ามนั่งท้ายกระบะช่วงสงกรานต์ นางสาวณัชชา โอเจริญ และ นางสาวณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้มุมมองว่า กรณีนี้ได้รับแรงต้านจากสาธารณะ เพราะผู้กำหนดนโยบายเน้นที่การบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาชนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นยังไม่พร้อม อีกทั้งขาดการดำเนินกลยุทธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และถึงแม้ประชาชนจะตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายหากนั่งและใช้รถผิดประเภท แต่ประชาชนก็ยังขาดทางเลือกอื่นในการเดินทาง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยและเพียงพอ
“ถึงแม้ว่าภาครัฐจะระบุว่ามาตรา 44 นี้ เป็นเพียงแค่การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่จะเห็นได้ว่า การที่ภาครัฐไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และมีการอะลุ่มอล่วยให้มีการนั่งท้ายกระบะหลังมาเป็นเวลานาน อีกทั้งภาครัฐมีการอนุญาตให้ใช้งานรถที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน เช่น รถสองแถว ซึ่งมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ไม่แตกต่างจากการนั่งท้ายกระบะหลังเท่าไรนัก ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยกับการดำเนินนโยบายของรัฐ ทั้งนี้รัฐต้องสื่อสารต่อสาธารณะถึงข้อเท็จจริงของอันตรายจากการใช้รถผิดประเภท หรือการนั่งท้ายและนั่งเบาะหลังกระบะ (บางรุ่น) เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย ควบคู่กับการเน้นให้ข้อมูลความรู้ถึงความคุ้มค่าในการเลือกใช้รถที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันและลดความสูญเสียในอนาคต”
“สิ่งสำคัญที่ภาครัฐควรคำนึงถึงและพิจารณาอีกประการคือ ความจำเป็นหรือข้อจำกัดของประชาชนบางส่วนที่ต้องเลือกใช้รถกระบะ เพราะอาจตอบสนองการใช้งานได้ทั้งการเดินทางและประกอบอาชีพ เป็นต้น ดังนั้น การเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน โดยการจัดให้มีรถโดยสารสาธารณะที่เพียงพอ และรัฐสามารถควบคุม ยืนยันความปลอดภัยได้ จะช่วยให้ประชาชนลดความเสี่ยงจากการใช้รถส่วนตัว” นางสาวณิชมน ทองพัฒน์ กล่าว